เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคณะแพทย์ศาสตร์ได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ที่เข้ารับการรักษาไวรัสโควิด-19 ในระบบ Home Isolation (HI) และรักษาหายแล้ว นำเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและปรอทวัดไข้ที่ได้จากการกักตัวที่บ้าน ที่ใช้แล้ว กลับมาบริจาคที่กล่องรับบริจาคเครื่องมือ Home Isolation บริเวณ ข้างตึกสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยได้จัดเตรียมกล่องรับบริจาคไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งผู้ที่นำอุปกรณ์มาบริจาคไม่ต้องลงจากรถสามารถนำอุปกรณ์ใส่ลงในกล่อง แล้ววนรถกลับได้เลย
ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้แจกอุปกรณ์ดังกล่าวไปโดยไม่ได้เรียกคืนกลับมา เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านมากนัก ประกอบกับได้รับการสนับสนุนบริจาคอุปกรณ์ทั้งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและปรอทวัดไข้มาเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์ปัจจุบัน พบผู้ที่มีผลตรวจATK เป็นบวกจำนวนมาก เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 ราย ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าอุปกรณ์ที่มีอยู่จะไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน และเหลือแจกจ่ายได้อีกไม่นานนัก
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากผู้ที่หายเป็นปกติแล้ว นำอุปกรณ์ดังกล่าวมาบริจาค เพื่อทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะได้นำกลับไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามระบบการแพทย์ ก่อนที่จะนำมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องกักตัวที่บ้านหลังจากนี้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการทยอยนำอุปกรณ์บริจาคบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการ คาดว่าหลังจากนี้จะมีการนำอุปกรณ์มาบริจาคเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกลุ่มผู้ที่มีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจATK เป็นบวก ปัจจุบันสามารถแจ้งความประสงค์กับโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ได้ทันที ซึ่งในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีโรงพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 10 แห่ง ทั้งนี้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation หมุนเวียนอยู่ประมาณ 500 ราย โดยเริ่มดำเนินการในลักษณะนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเข้ารักษาตัวในระบบ Home Isolation ยังคงมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการต่อเนื่อง 5 วัน โดยจะมีการแจกชุดอุปกรณ์เครื่องวัดออกซิเจนและปรอทวัดไข้ รวมทั้งยาให้กับผู้ที่มีผลเป็นบวก และเข้ากักตัวที่บ้าน ซึ่งการแจกจ่ายยาให้กับผู้ป่วยนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นหลักไม่ได้แจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยทุกคน แต่จะประเมินอาการเป็นรายบุคคลหากพบมีความเสี่ยงจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ทันที
ภาพ/ข่าว : นิศานาถ กังวาลวงศ์ ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคเหนือ