svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ดร.อนุสรณ์ ชี้ คว่ำบาตรรัสเซียจาก SWIFT ผลกระทบน้อย เหตุไม่ Cut off Completely

28 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.อนุสรณ์ ระบุ การตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก SWIFT ไม่เบ็ดเสร็จ ส่งผลกระทบรัฐบาลปูตินไม่มากนัก เหตุ กลัวกระทบสถาบันการเงินเยอรมัน-สหรัฐฯ มองคริปโทฯ จะเข้ามามีบทบาทแทนที่ ชี้ ไทยควรระวังถูกใช้เป็นเครื่องมือหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรรัสเซีย

28 กุมภาพันธ์ 2565 ภายหลังจากที่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(อียู) และอังกฤษ จับมือกันแซงก์ชันธนาคารกลางรัสเซีย ตัดขาดมอสโกจากระบบ SWIFT เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ก.พ.) รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ในที่สุดชาติตะวันตกก็กันสถาบันการเงินรัสเซียออกจากระบบ SWIFT หลังจากลังเลเพราะเกรงผลกระทบต่อสถาบันการเงินในยุโรปบางประเทศ

 

การให้รัสเซียออกจากระบบ SWIFT น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจรัสเซียมาก จากการที่รัสเซียต้องพึ่งพารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ จากการขายน้ำมันและพลังงานมากกว่า 40% ของงบประมาณและคิดเป็น 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

 

โดยระบบ SWIFT เชื่อมโยงสถาบันการเงินต่างๆ มากกว่า 11,000 แห่งครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก หากรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในระบบ SWIFT ย่อมส่งผลต่อการชะงักงันของการส่งออกและกระทบรายได้จำนวนมาก น่าจะทำให้จีดีพีของรัสเซียลดลงไม่ต่ำกว่า 5% ภายในหนึ่งปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 85,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.085 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 2.72 ล้านล้านบาท) โดยจีดีพีของรัสเซียอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก

 

ทั้งนี้การใช้มาตรการคว่ำบาตรให้รัสเซียออกจาก SWIFT ไม่ได้ทำแบบเบ็ดเสร็จ คือ การมุ่งไปยังธนาคารเป้าหมายเท่านั้น จึงทำให้ผลกระทบจากความเสียหายต่อรัสเซียยังคงจำกัดวงอยู่ ไม่ได้มีการ Cut off Completely แต่เป็น Targeted Cut off ตามการร้องขอของเยอรมนี เพราะการ Cut off Completely จะกระทบต่อบริษัทพลังงานในเยอรมนีค่อนข้างมาก ขณะที่สถาบันการเงินในเยอรมนีและสหรัฐที่ใช้ระบบ SWIFT สื่อสารและทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในรัสเซียก็จะได้รับกระทบอย่างมากไปด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและสถาบันการเงินบางแห่ง ต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้น และทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันและพลังงานสู่ตลาดโลกได้ตามปรกติ ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

 

“มาตรการ SWIFT ไม่น่าส่งผลต่อรัฐบาลปูตินในทางการเมืองหรือการทหารมากนัก ขณะเดียวกันรัสเซียอาจจะไปใช้ระบบ China’s Cross-Border Inter-Bank Payment System หรือ คริปโทเคอร์เรนซีแทน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่สามารถทดแทนระบบ SWIFT ได้”

 

รัสเซียไม่ได้เป็นประเทศแรก ที่โดนชาติตะวันตกคว่ำบาตรด้วยมาตรการ SWIFT อิหร่านเคยถูกปิดกั้นออกจากระบบ SWIFT ทำให้การค้าต่างประเทศของอิหร่านหายไปกว่า 30% และนำมาสู่การที่อิหร่านยอมเข้าสู่การเจรจากับชาติตะวันตกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ใน 2-3 ปีต่อมา ไม่สามารถทนต่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้

 

ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อ ก่อนหน้านี้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทั้งการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดการเงินของชาติตะวันตก การยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้นำรัสเซียที่ใกล้ชิดประธานาธิบดีปูตินและการควบคุมการส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังรัสเซีย มาตรการเหล่านี้ ส่งผลต่อแรงกดดันทางการเมืองและทางการทหารมากกว่ามาตรการ SWIFT

 

เราจะได้เห็นสงครามแบบผสมผสานหรือ Hybrid Warfare ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ มาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการการเงิน มาตรการโจรกรรมทางไซเบอร์ ที่สร้างความปั่นป่วนในระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ความระส่ำระสายในระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงินจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

การใช้ “มาตรการทางเศรษฐกิจ” และ “มาตรการการเงิน” เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมด้วย นอกเหนือจากประเทศคู่ความขัดแย้งแห่งสงคราม การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) และปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างมากมาย มีการสร้างข่าวปลอม ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น

 

“มองว่า คริปโทเคอร์เรนซีจะเข้ามีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศในสงครามรัสเซียยูเครน เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซี มีลักษณะของการเงินแบบกระจายศูนย์ไม่มีศูนย์กลางควบคุม จึงถูกใช้เพื่อรับมือการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่อรัสเซียและการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเงินให้กองทัพยูเครน”

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่คริปโทเคอร์เรนซีแตก เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อุปสงค์ต่อคริปโทเคอร์เรนซีของรัสเซียและยูเครนไม่เพียงพอต่อการประคับประคองราคาที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ คริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับความนิยมจะเป็น Stablecoin ที่ผูกกับเงินดอลลาร์ ประชาชนในยูเครนจะถือ Stablecoin มากกว่าเงินสด เนื่องจากจะปลอดภัยกว่า

 

สำหรับประเทศไทยหรือสถาบันการเงินไทย ควรระมัดระวังในการถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของระบอบปูติน เพราะผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้ไม่คุ้มค่ากับผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นติดตามมา

 

"จุดยืนของไทย ควรเป็นจุดยืนของการต่อต้านสงครามและต่อต้านการรุกรานประเทศอื่นและต่อต้านการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน สนับสนุนสันติภาพและการเจรจาเพื่อยุติสงครามและยุติความรุนแรงนองเลือดเพิ่มเติม ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เท่าที่ทำได้ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

นโยบายต่างประเทศควรวางตัวเป็นกลาง เพราะความขัดแย้งและสงครามรัสเซียยูเครนนั้นมีความซับซ้อนมากและประเทศไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว จึงไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียและผู้บริหารนโยบายต่างประเทศต้องรู้ว่าผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร การรักษาสมดุลและการลำดับสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐบาลต้องรีบจัดส่งหน่วยงานปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนโดยด่วน" ดร.อนุสรณ์ กล่าว

 

SWIFT มีที่มาและสำคัญอย่างไร

 

SWIFT ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือ สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก เป็นระบบที่สร้างมาใช้แทนที่ telex ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1973 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเบลเยียม

 

SWIFT มีหน้าที่หลัก คือ เป็นตัวกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศ สถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่ง ใช้บริการชำระเงินผ่านระบบ SWIFT ครอบคลุมการใช้งานใน 200 ประเทศ SWIFT จึงเป็นเสมือนเสาหลักของระบบการเงินโลก

 

วิธีการทำงานของ SWIFT คือ เป็นตัวกลางรับส่งข้อมูลการโอนเงินระหว่างประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของธนาคารไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน

 

กำกับดูแลและควบคุม โดยธนาคารแห่งชาติของเบลเยียม และตัวแทนจากระบบธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารแห่งอังกฤษ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และธนาคารกลางรายใหญ่อื่นๆ

 

SWIFT เป็นเพียงตัวกลาง ไม่มีระบบฝากเงิน ไม่มีการถือเงินไว้ การควบคุมดูแลจึงมีลักษณะที่ต่างจากธนาคารทั่วไป

 

เฉพาะปี 2021 ที่ผ่านมา มีการส่งข้อมูลทางการเงินระหว่างกันบนระบบ SWIFT ถึง 42 ล้านครั้งต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคำสั่งซื้อ การยืนยันการชำระเงิน การค้า และการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

logoline