svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับจังหวะ “นายกฯ” ฝ่าวงล้อมหรือยอมยกธง?

22 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สู้ต่อหรือพอแค่นี้ ? จับจังหวะทางเลือก “สร.1” หลายฝ่ายฟันธงอาจ “ยุบสภา” ด้านฝ่ายค้านไล่บี้ไม่หยุด จ่ออภิปราย “นายกฯ” คนเดียว หวังเสียงบางส่วน “พปชร.” ร่วมโหวตคว่ำ

 

หลังผ่านศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ และมีโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” ออกมา ระบุว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้นายกรัฐมนตรีรีบยุบสภาโดยเร็วนั้น ทำให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการยุบสภาถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

 

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาจริงๆ  ก็จะยุบช่วงเดือนพฤษภาคม เพราะ

 

1.เป็นห้วงเวลานับจากนี้ที่อยู่ได้ปลอดภัยสูงสุด และไม่มีเงื่อนไขที่นำไปสู่การยุบสภา หรือลาออกได้ (ก.พ.ถึง พ.ค.)

 

2.วันที่ 22 พ.ค. จะเป็นวันเปิดสมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 1 / 2565 ซึ่งสมัยประชุมนี้ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

 

3.ทันทีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ นายกฯจะไม่มีอำนาจยุบสภาชั่วคราว จนกว่าจะผ่านญัตติไปได้ หรือญัตติถูกโหวตคว่ำ

 

4.เมื่อนายกฯไม่มีอำนาจยุบสภา ก็จะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองลดลง อาจมีบางฝ่ายเบี้ยว แล้วหาเหตุรวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อโหวตคว่ำนายกฯกลางสภาได้

 

5.ถ้านายกฯถูกโหวตคว่ำกลางสภา จะเป็นนายกฯคนแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่หลุดเก้าอี้จากการแพ้โหวตญัตติซักฟอก (เมื่อก่อนไม่เกิด เพราะนายกฯมีอำนาจยุบสภาได้ตลอดเวลา ถ้าประเมินแล้วว่าเสี่ยงโหวตแพ้ ก็จะยุบสภาหนี)

 

เหตุนี้จึงทำให้นายกฯอาจตัดสินใจยุบสภา ก่อนเปิดสมัยประชุม คือ ก่อน 22 พ.ค.

 

 

จับท่าทีของฝ่ายค้าน ก็พยายามขู่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ ว่า ถ้ายื้อ หรือลากไปจนถึงเปิดสภา จะโดนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรนมูญมาตรา 151 ซึ่งถ้าเสียงของฝ่ายค้าน (เสียงไม่ไว้วางใจ) เกินกึ่งหนึ่ง (เกิน 238 เสียง คิดจากจำนวน ส.ส. ณ เวลานี้) นายกฯต้องพ้นตำแหน่ง

 

สำหรับแผนเบื้องต้นของฝ่ายค้านที่หารือนอกรอบกันไว้ ถ้าการเมืองไทยเดินไปถึงจุดที่นายกฯไม่ยุบสภา และเข้าสู่โหมดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คือ

 

1.เน้นอภิปรายขยายปมตรวจสอบทุจริต เสี่ยงเสียค่าโง่ เช่น เหมืองทองอัครา ซึ่งกระทบจิตใจคนจำนวนมาก

 

2.มุ่งอภิปรายแค่นายกฯ กับพี่น้อง 2ป. (บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม บิ๊กป๊อก)

 

3.”บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในข่ายโดนด้วย เพราะมีประเด็นขยายผลต่อจากการอภิปรายของ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่พูดพาดพิงกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ และตอกลิ่มความสัมพันธ์ 3 ป.

 

4.หากฝ่ายค้านมีดีลลับกับพรรคร่วมรัฐบาล อาจยื่นอภิปรายนายกฯคนเดียว เพื่อหวังเสียงบางส่วนในพลังประชารัฐ ร่วมโหวตคว่ำ “บิ๊กตู่”

 

จับจังหวะ “นายกฯ”  ฝ่าวงล้อมหรือยอมยกธง?

 

สืบเนื่องจากข้อ 4 หากเล่นเกมนี้ ก็จะหวังอาศัยเสียง ส.ว.จากกลุ่มที่ไม่ใช่คนของนายกฯ (คนของอีก 1 ป.) โหวตสนับสนุนนายกฯคนใหม่

 

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากนี้จึงต้องจับตาห้ามกระพริบ โดยเฉพาะท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทย กลุ่มพรรคเล็ก และพรรคภูมิใจไทย ที่ล้วนเป็นตัวแปรในเสียงสนับสนุนหรือคว่ำรัฐบาล

จับจังหวะ “นายกฯ”  ฝ่าวงล้อมหรือยอมยกธง?

logoline