svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สศช. ยัน เงินกู้ 5 แสนล้าน ยังเหลือพอใช้ ถ้า โควิดอาละวาดไม่รุนแรง

21 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศช. ยัน เงินกู้ 5 แสนล้าน ยังเหลือเพียงพอ ถ้าการระบาดของโควิด-19 ไม่รุนแรง ระบุ ขณะนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นออกพ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่

21 กุมภาพันธ์ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ปัจจุบันวงเงินภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเพียงพอกับสถานการณ์ในขณะนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินก้อนใหม่

 

สำหรับวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม ยังมีวงเงินคงเหลือ 97,134.77 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบแล้ว และเท่าที่คุยกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงบประมาณ มีความเห็นตรงกันว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมาเรื่อย ๆ และถ้าการระบาดของโควิด-19ไม่รุนแรง ไม่มีปิดเมือง หรือปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การกู้เงินมาอีกก้อนก็ยังไม่มีความจำเป็น

เลขาธิการ สศช. ยอมรับว่า แม้ว่าวงเงินภายใต้พ.ร.ก.ดังกล่าว จะเหลืออยู่ค่อนข้างจำกัด ในส่วนของการบริหารเงินที่เหลือภายใต้กฎหมายนี้ จะใช้สำหรับการประคับประคองสถานการณ์เป็นส่วนใหญ่ และต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องใช้ในโครงการที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งก็คงต้องกันเอาไว้ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

 

ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในระยะสั้นด้วยมาตรการที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงช่วยดูแลเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพไปได้ ส่วนระยะต่อไป คงเน้นไปที่การฟื้นฟูเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุน ด้วยการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้ามาย ควบคู่การลงทุนของหน่วยงานรัฐและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยให้ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ต่อไป

ทั้งนี้การใช้เงินกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น จากการประชุมครม.ล่าสุดเมื่อ วันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ใช้วงเงินดังกล่าว ในโครงการเพิ่มเติม เช่น โครงการในส่วนของจัดหาครุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง(ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง) ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเป็นหลักจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม  5,731 ล้านบาท

 

รวมทั้งโครงการบริหารจัดการนำส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ ระดับพื้นฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จำนวน 5 เดือน กรอบวงเงิน 37.5 ล้านบาท

logoline