svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

มท.ร่วมเป็นสักขีพยานพช.-เทศบาลนครยะลาทำMOUพัฒนาจังหวัดแบบยั่งยืน

19 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปลัดมหาดไทย"ร่วมเป็นสักขีพยานพัฒนาชุมชนยะลาจับมือเทศบาลนครฯ ทำ MOU เร่งขับเคลื่อนจังหวัดมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

19 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายสําคัญของกระทรวงมหาดไทย ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระหว่าง สํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา กับ เทศบาลนครยะลา ณ ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคาร 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา 

 

มท.ร่วมเป็นสักขีพยานพช.-เทศบาลนครยะลาทำMOUพัฒนาจังหวัดแบบยั่งยืน

 

โดยมี นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับปลัดกระทรวงมหาดไทยและประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ น.ส.รัตนา ไมสัน นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดยะลา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวถึงความเชื่อมโยงในการดำเนินงานและทิศทางการพัฒนาหลังจากที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลาและเทศบาลนครยะลาได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมี นายสุทธิพงษ์ ดร.วันดี กุญชรยาคง และ นายภิรมย์ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ส่วนราชการภาคีการพัฒนา ภาคเอกชน ภาควิชาการ ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยะลา คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดยะลา ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในเขตเทศบาลนครยะลา และข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

มท.ร่วมเป็นสักขีพยานพช.-เทศบาลนครยะลาทำMOUพัฒนาจังหวัดแบบยั่งยืน

 

สำหรับบันทึกข้อตกลงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายสําคัญของกระทรวงมหาดไทย ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในครั้งนี้ มุ่งขับเคลื่อนความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่

 

1.การยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา 

 

2.การให้คำปรึกษา การสนับสนุนองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูล

 

3.การพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล จปฐ. 

 

4.การสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 

 

5.การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการของกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการผ้าในพื้นที่เทศบาลนครยะลา และการจัดแสดงนิทรรศการ "รากเรื่อง....เล่าลาย" โดยอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park ยะลา)

 

มท.ร่วมเป็นสักขีพยานพช.-เทศบาลนครยะลาทำMOUพัฒนาจังหวัดแบบยั่งยืน

 

สำหรับจ.ยะลานั้น นอกจากการพัฒนาใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ SDGs แล้ว ต้องให้ความสำคัญกับมิติทางด้านวัฒนธรรม การจะบรรลุความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ทุกภาคส่วน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตและสร้างสัมฤทธิผลแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จ.ยะลา

logoline