svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

คืบหน้าครบรอบ 1 ปี คดี วิชา รัตนภักดี เหยื่อเหยียดเชื้อชาติ ในสหรัฐฯ

01 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คืบหน้าครบรอบ 1 ปี คดี วิชา รัตนภักดี เหยื่อเหยียดเชื้อชาติ ในสหรัฐฯ บอร์ดบริหารกรุงซานฟรานซิสโก จ่อเปลี่ยน ชื่อถนนเกิดเหตุเป็น Vicha Ratanapakdee Lane เผยสถิติน่าตกใจ คดีที่เกิดกับชาวเอเชีย

1 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ชาวเอเชีย-อเมริกันร่วมขบวน Asian Justice Rally ได้ร่วมกันเดินขบวน เพื่อรำลึก 1 ปีการเสียชีวิตของนายวิชา รัตนภักดี วัน 84 ปี ที่เสียชีวิตจากการถูกผลักล้มของวัยรุ่นอเมริกันผิวสีวัย 19 ปี อองตวน วัตสัน (Antoine Watson) ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการเหยียดเชื้อชาติ โดยการรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงแต่รำลึกกรณีนายวิชาเท่านั้น แต่ยังมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรมการณรงค์ภายในอีกด้วย

คืบหน้าครบรอบ 1 ปี คดี วิชา รัตนภักดี เหยื่อเหยียดเชื้อชาติ ในสหรัฐฯ

ทั้ง 2 กิจกรรมมีเป้าหมายเดียวกันคือ รวมกลุ่มเอเชียเพื่อขับเคลื่อนความยุติธรรมให้กับเหยื่ออาชญากรรมชาวเอเชีย-อเมริกันอีกหลายชีวิตที่เสียชีวิตจากการเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งหลายกรณีเกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติและสัญชาติ อีกทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงจากความเกลียดชังที่เกิดกับชาวเอเชียในสหรัฐฯ

 

สำหรับความคืบหน้าของคดี มณฑนัศ รัตนภักดี บุตรสาวนายวิชา เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการสืบสวนของศาลชั้นต้นและยังไม่มีการส่งฟ้อง โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เข้าใจว่าเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะโรคระบาดโควิด-19  ซึ่งตนและครอบครัว รู้สึกผิดหวังกับความล่าช้าของคดี แต่ยังไม่สิ้นหวังจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้คุณพ่อ รวมทั้งเหยื่ออาชญากรรมชาวเอเชียรายอื่น ๆ

"ทนายทั้ง 2 ฝ่ายยังคงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสู้คดีอยู่  เราเองยังไม่รู้เหมือนกันว่าอัยการจะมีอะไรมาเสนอต่อผู้พิพากษา แต่เรายังเชื่อว่าคดีของคุณพ่อจะเป็นตัวอย่างความยุติธรรม ให้แก่เหยื่ออาชญากรรมที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติ  เราผิดหวังเพราะคดีอื่นๆในรัฐนี้จบเร็ว ปิดเร็ว ไม่เปรียบเทียบกับรัฐอื่นนะ เอาแค่รัฐนี้ เราคิดว่าควรจะเร็วกว่านี้  อยากให้ลงโทษคนร้ายจริงจัง  ไม่อยากให้การเสียชีวิตของคุณพ่อเปล่าประโยชน์" มณฑนัศ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า บอร์ดบริหารกรุงซานฟรานซิสโกหรือ Board of Supervisors มีความเห็น อนุมัติให้มีการเปลี่ยนชื่อถนน Sonora Lane ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุทำร้ายนายวิชา เป็น Vicha Ratanapakdee Lane ขณะนี้รอให้ออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ

คืบหน้าครบรอบ 1 ปี คดี วิชา รัตนภักดี เหยื่อเหยียดเชื้อชาติ ในสหรัฐฯ

ขณะที่แกรี่ คุณาบุตร ตำรวจอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ได้รับตำแหน่งตำรวจดีเด่นเมื่อไม่นานนี้ กล่าวว่า จริงๆเรื่องอาชญากรรมในกรุงซานฟรานซิสโกนั้นมีทุกวัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตนในฐานะคนไทยและคนเอเชีย เข้าใจดีว่าเมื่อมีข่าวน่าเศร้าเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเอเชียย่อมสร้างความลำบากใจ และความกลัว แก่คนเชื้อสายเอเชียไม่น้อย สิ่งที่ตนกังวลมากที่สุดคือ คนเอเชียสูงวัยหลายคนไม่รู้ภาษา พอเกิดเหตุร้ายแรงก็ไม่กล้าคุยกับตำรวจ เพราะกลัวคุยไม่รู้เรื่อง

 

"อยากฝากให้ทุกๆคนโดยเฉพาะคนไทยว่า ไม่ว่าทักษะภาษาดี หรืไม่ ให้เปิดใจคุยกับตำรวจก่อน ถ้าต้องใช้ล่ามจริงๆ ก็จะพยายามช่วย แต่อย่าเงียบ เพราะถ้าเงียบ คดีจะไม่คืบหน้าแน่ๆ" แกรี่กล่าว

ขณะที่แซม ชาวกัมพูชาในซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่มองว่า คนเอเชียรุ่นใหม่มีหัวคิดก้าวหน้าและกล้าเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ การเดินขบวนตามท้องถนน ตลอดจนทำกิจกรรมที่หลากหลาย และอยากให้เพิ่มกรณีเหยื่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังชาวเอเชีย เป็นกรณีศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วย

 

ส่วนกรณีนายวิชา เป็นอีกประเด็นที่ตนอยากร่วมสนับสนุนคือ เหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดกับคนวัยชราสูงขึ้น ไม่ว่าจะเกิดกับคนชาติใด ตนมองว่าไม่ควรมี กรณีลุงวิชาควรเป็นกรณีสุดท้าย เพราะคนชราเปราะบาง ความปลอดภัยบนท้องถนนในชุมชนควรมีมากกว่านี้ ผู้บริหารควรมีความเข้มงวดมากกว่านี้ ซึ่งเรื่องความปลอดภัยดังกล่าวซานฟรานซิสโก ล้มเหลว

 

มีรายงานด้วยว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อชาวเอเชียในเมืองซานฟรานซิสโกที่มีประชากรอาศัยราว 875,000 คน สูงถึง 567% หรือจาก 9 คดีในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 60 คดีในปี 2021

 

ตำรวจเมืองซานฟรานซิสโกชี้ว่า คดีการทำร้ายและคุกคามชาวเอเชียนั้นถูกพบว่ามีการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่รายงานการทำร้ายชาวเอเชียทั่วสหรัฐฯ ระหว่างมีนาคม ปี 2020 ไปถึงมิถุนายนปี 2021 เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 9,000 คดี

 

ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติของ FBI Updated 2020 ในคดีเหยื่อจากเหตุการณ์อาชญากรรมแสดงความเกลียดชังหรือการเหยียดเชื้อชาติ

มีเหตุการณ์อคติเดี่ยว 8,052 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ 11,126 คน

เปอร์เซ็นต์การกระจายเหยื่อตามประเภทอคติแสดงให้เห็นว่า 61.8% ของเหยื่อถูกกำหนดเป้าหมายเนื่องจากอคติทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์/บรรพบุรุษของผู้กระทำความผิด

มีเหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังแบบพหุอคติ 211 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ 346 คน

สถานที่ของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังในปี 2020

  • 28.9% เกิดขึ้นในบ้านหรือใกล้บ้านพักอาศัย
  • เกือบ 20% (19.9) เกิดขึ้นบนทางหลวง/ถนน/ตรอก/ถนน/ทางเท้า
  •  6.5% เกิดขึ้นที่ที่จอดรถ/ลานจอด/โรงรถ
  •  4.2% เกิดขึ้นที่โรงเรียน/วิทยาลัย
  • 3.6% เกิดขึ้นที่สวนสาธารณะ/สนามเด็กเล่น
  •  และ 3.4% เกิดขึ้น ในโบสถ์/ธรรมศาลา/วัด/มัสยิด
  • สถานที่อื่นๆและไม่ทราบสถานที่ 8.6% ของเหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
  • ส่วนที่เหลืออีก 24.8% ของเหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังเกิดขึ้นที่อื่นหรือหลายแห่ง

คืบหน้าครบรอบ 1 ปี คดี วิชา รัตนภักดี เหยื่อเหยียดเชื้อชาติ ในสหรัฐฯ

คดีลุงวิชา เกิดขึ้นเมื่อ นายอองตวน วัตสัน ชาวเมืองดาลี ซิตี้ วัย 19 ปี ก่อเหตุวิ่งข้ามถนนไปผลักนายวิชา จนล้มลงกับพื้นใกล้ย่าน อันซาวิสตา กับถนนฟอร์จูนา เมื่อเวลา 08:28 น. วันที่ 28 ม.ค. ทำให้ศีรษะของนายวิชากระแทกพื้น และเป็นสาเหตุให้เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันเสาร์ที่ 30 ม.ค. และนายวัตสันถูกจับกุมในคืนวันเดียวกับที่นายวิชาเสียชีวิต หลังตำรวจออกปฏิบัติการตามหมายค้นที่บ้านในเมืองดาลี ซิตี้ โดยถูกนำตัวเข้ารับการไต่สวนในชั้นศาลครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 3 ก.พ. 2564 โดยเขาให้การปฏิเสธข้อหา ฆาตกรรม และทารุณกรรมผู้สูงอายุ

 

ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ เตรียมตรวจสอบและสืบสวนในเชิงลึกต่อปัญหาอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับชาวเชื้อสายเอเชีย โดยมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI และอัยการของรัฐบาลกลาง ประสานงานกับกับตำรวจท้องถิ่นในแต่ละรัฐ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในคดีอาชญากรรมที่สงสัยว่าอาจมีเหตุมาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า คำสั่งดังกล่าวเพื่อมุ่งเน้นตอบสนองจากรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียโดยเฉพาะ

ขอคุณภาพจากทวิตเตอร์ Assessor-Recorder Joaquín Torres @SFjoaquintorres

logoline