svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่-จตุจักร แต่ละพรรคมีจุดอ่อน-จุดแข็ง?

28 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันอาทิตย์ 30 ม.ค.นี้ ใครจะเป็นผู้ได้เก้าอี้ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร โพลแต่พรรคเปิด จุดอ่อน-จุดแข็ง ของตัวเองเป็นอย่างไร แต่ละกลุ่มช่วงอายุจะใช้สิทธิ์เทคะแนนให้ใคร ติดตามกันเลย

28 มกราคม 2565 วันอาทิตย์ 30 ม.ค.นี้แล้ว ที่ประชาชนเขต 9 หลักสี่-จตุจักร จะต้องตัดสินใจ เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนในสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงโค้งสุดท้ายของผู้สมัครทุกพรรคการเมือง ต่างทุ่มกันสุดตัวเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยแต่ละพรรคได้ทำโพลของผู้สมัครตัวเอง เพื่อหาจุดอ่อน-จุดแข็งปิดช่องโหว่ ในการเรียกคะแนน

 

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจาก “โพล”ภายใน และการประเมินของพรรคการเมือง ที่สำรวจความนิยมของพรรคและตัวผู้สมัคร ว่าใครมีโอกาสได้ลุ้นเก้าอี้ ส.ส.กทม.เขต 9 มากน้อยแค่ไหน และความได้เปรียบเสียเปรียบในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะถึงวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 30 ม.ค.นี้

 

เบอร์ 1 “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์” ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ถือเป็นสนามแรกที่พรรคส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ฐานคะแนนไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “พันธุ์เทพ” แต่อยู่ที่ความนิยมของพรรคไทยภักดี ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องสถาบันฯ และตัวผู้สมัครก็ใช้สโลแกนประจำตัว “ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

 

ทุกคะแนนของ “พันธุ์เทพ” จึงมาจากพรรคไทยภักดี มากกว่ามาจากตัวผู้สมัครเอง โดยมีกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุน และสัปดาห์สุดท้ายนี้ พรรคได้ดึงคนดัง ศิลปินดารา ออกมาช่วยเรียกคะแนนเพิ่ม จึงต้องติดตามว่ากระแสของพรรคไทยภักดีในสนามเลือกตั้งครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญนโยบายพรรค จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั้งประเทศในอนาคต

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่-จตุจักร แต่ละพรรคมีจุดอ่อน-จุดแข็ง?

เบอร์ 2 “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครจากพรรคกล้า แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ผ่านสนามเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว 3 ทำให้กระแสของพรรคกล้าพอมีอยู่บ้าง และ อรรถวิชช์ เคยเป็นอดีตส.ส.ในเขตพื้นที่นี้มาก่อน จึงมีพื้นที่ฐานเสียงบางส่วนอยู่ในเขตจตุจักร ในช่วงที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

 

แน่นอนว่าความนิยมในตัวของ “อรรถวิชช์” ยังมีอยู่พอสมควร บวกกับกระแสของพรรคกล้าที่มีบางโพลสำรวจออกมาว่า “คนหลักสี่-จตุจักร” อยากลองของใหม่ ทำให้คะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายปรับขึ้นพอสมควร

 

เบอร์ 3 “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมในตัวของ “สุรชาติ” ที่ได้จากฐานเสียงในพื้นที่ มีมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคหลายเท่าตัว จากการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “สุรชาติ” ได้ 32,115 คะแนน ซึ่งมีความเป็นได้สูงที่จะรักษาฐานดังกล่าวเอาไว้ได้ ที่สำคัญแม้ “สุรชาติ” ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่ยังทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจุดแข็งที่ได้เปรียบกว่าผู้สมัครรายอื่นอยู่พอสมควร

 

เบอร์ 6 “กรุณพล เทียนสุวรรณ” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คะแนนนิยมในตัวของ “กรุณพล” สูสีกับคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล โดยมีฐานของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ให้การสนับสนุน น่าจับตาว่านิวโหวตเตอร์ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคก้าวไกล จะเทคะแนนให้มากน้อยเพียงใด

 

เบอร์ 7 “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” หรือมาดามหลี ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมในตัวของ มาดามหลี มีน้อยกว่าคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐอยู่มาก ที่สำคัญความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคตกลงอีก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “สรัลรัศมิ์”

 

ดังนั้นโค้งสุดท้ายจึงปรับกลยุทธ์ เลือกชูผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหวังดึงคะแนนจากแฟนคลับ “บิ๊กตู่” ให้ช่วยเทคะแนนให้

สำหรับช่วงอายุ “ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” ตามโพลที่คาดว่าจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครแต่ละพรรค ดังนี้

 

ช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ คะแนนเกือบร้อยละ 60-70 เทให้กับ “กรุณพล-พรรคก้าวไกล” ส่วนที่เหลือเฉลี่ยกันไปที่ “สุรชาติ-อรรถวิชช์” ส่วน “พันธ์เทพ-สรัลรัศมิ์” ได้คะแนนจากกลุ่มนี้น้อยมาก

 

ช่วงอายุ 25-35 ปี กลุ่มนี้ส่วนใหญ่พักอาศัยเป็นอาคารคอนโดฯมากกว่าบ้านเรือน มีคะแนนเฉลี่ยกันไป “กรุณพล” อาจจะมีภาษีมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ห่างกันมากนัก

 

ช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่ใหญ่ที่สุด ประชากรอยู่ในวัยทำงาน ฐานนี้จะแย่งชิงกันระหว่าง “สุรชาติ-อรรถวิชช์” ตามมาด้วย “กรุณพล” และต่อด้วย “สรัลรัศมิ์” ส่วน “พันธ์เทพ” มีโอกาสได้คะแนนจากกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย

 

ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รักสถาบันฯ ทำให้แนวทางของ “พันธ์เทพ-พรรคไทยภักดี” ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม กลุ่มสูงอายุยังค่อนข้างผูกพันกับ “สุรชาติ” ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแปรอื่นที่จะเป็นปัจจัยต่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร อาทิ กลุ่มเบื่อรัฐบาล กลุ่มเบื่อการเมือง กลุ่มยังไม่ตัดสินใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลต่อการเลือกตั้งในทุกครั้งที่ผ่านมา ถึงกับชี้ขาดชัยชนะได้

ที่มากรุงเทพธุรกิจ

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่-จตุจักร แต่ละพรรคมีจุดอ่อน-จุดแข็ง?

logoline