- 28 ม.ค. 2565
- 1.7k
นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ถามหลายประเด็น ถึงการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น อาทิ ยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบการฉีดวัคซีน จาก สปสช. ได้หรือไม่
28 มกราคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยระบุข้อความว่า ทางการสั่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความว่า
- โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?
- ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?
- ไม่ต้องมีการรายงาน?
- ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคนเช่นใช้บัตรทอง?
- ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
- การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?
- วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น
และปัจจุบันในประเทศไทย ยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่?
โดยที่จนกระทั่งถึงวันที่ 28 มกราคม 2565
มีผู้ยื่นคำร้อง 13,825 ราย เข้าเกณฑ์ 10,544 ราย และมีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาในรายที่เหลือและที่มีอุทธรณ์
ทั้งนี้ ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว 1,205,538,900 บาท
และมีเสียชีวิต 20.56%
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.วานนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ประชุม โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม (คลิกอ่านรายละเอียด)
นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000 - 9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้หารือ ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1.เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
2.เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น