svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โควิด-19 ทำแผน "ขจัดโรคมาลาเรีย" ชะงัก ส่งผลมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

23 มกราคม 2565
201

ข้อมูลชุดใหม่จากองค์การอนามัยโลกชี้ โควิด-19 หยุดบริการควบคุมและจัดการโรคมาลาเรีย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแถบประเทศแอฟริกา ด้านแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 ได้ผล จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

รายงาน World malaria report ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียประมาณ 241 ล้านคนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 14 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

 

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น 69,000 รายในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 627,000 รายในปี 2563

 

สองในสามของจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น หรือประมาณ 47,000 คน มีความเกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของบริการสาธารณสุขด้านมาลาเรียในช่วงโควิดระบาด ทำให้บริการส่งเสริมป้องกันโรคมาลาเรีย การตรวจ และการรักษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

 

องค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงวิกฤิตโควิด ภูมิภาคดังกล่าวเป็นแหล่งพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นอัตราส่วน 95% และ 96% ของจำนวนทั่วโลก โดย 80% ของผู้เสียชีวิตในภูมิภาคนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

สถาณการณ์ดังกล่าว ส่งผลเสียต่อความพยายามของนานาประเทศในการหยุดยั้งโรคมาลาเรีย ซึ่งเคยมีความก้าวหน้าก่อนเจอวิกฤติโควิด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียลดลงถึง 27% และผู้เสียชีวิตลดลงเกือบ 51% ในระหว่างปี 2543-2560

 

“ขอบคุณองค์กรด้านสาธารณสุขที่ทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาลาเรีย ผลกระทบจากวิกฤติโควิดต่อการจัดการโรคมาลาเรียยังไม่จบลง” นพ. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าว

 

“เราต้องใส่พลังและความตั้งใจในการตีกลับผลกระทบนี้ และทำให้ขบวนการหยุดยั้งโรคมาลาเรียเดินหน้าต่อไป”

 

รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า 15 ประเทศที่มีภาระสุขภาพจากโรคมาลาเรียสูงที่สุด มีอัตราการตรวจคัดกรองโรคลดลงถึง 20% เปรียบเทียบช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ในปี 2562 และ 2563

 

 

โควิด-19 ทำแผน "ขจัดโรคมาลาเรีย" ชะงัก ส่งผลมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

 

อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของโรคมาลาเรียกระจุกตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา เมื่อพิจารณาภูมิภาคอื่นๆที่มีระบบสุขภาพแข็งแรงกว่า เช่น จีน เอลซัลวาดอร์ และอิหร่าน กลับมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียเป็นศูนย์ในช่วงวิกฤติโควิด

 

ขณะที่ประเทศในภูมิภาคแม่โขงมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจาก 650,000 ราย เป็น 82,000 ราย ในระหว่างปี 2555 และ 2563

 

“รัฐบาลของประเทศแอฟริกาและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความพยายามในการขจัดโรคมาลาเรียให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะไม่สูญเสียความสามารถในการหยุดยั้งโรคนี้” นพ. มาซิดีโซ โมเอติ (Matshidiso Moeti) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแอฟริกากล่าว

 

องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายให้ทั่วโลกลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ให้ได้ 90% ภายในปี 2573 เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้เครื่องมือและแนวทางใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

 

หนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การให้วัคซีน RTS,S/AS01 หรือ RTS,S ซึ่งสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากปรสิตในมนุษย์ รวมถึงเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม วัคซีนชนิดนี้เริ่มมีการแจกจ่ายในแถบประเทศแอฟริกาใต้แล้ว

 

การใช้มุ้งกันยุง ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และใช้ต้นทุนต่ำ แต่ในช่วงโรคโควิด 19 ระบาด พบว่าการแจกจ่ายมุ้งไปยังประเทศที่มาลาเรียระบาดประสบปัญหาการขนส่งติดขัด สามารถแจกจ่ายได้ประมาณสามในสี่ของมุ้งที่เตรียมไว้

 

องค์การอนามัยโลกยังเสนอให้เพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อยกระดับระบบปฐมภูมิ และระบบสุขภาพในภาพรวม รวมทั้งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะประกันการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมาลาเรียในทุกกลุ่มประชากร

 

คาดว่าต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนทั่วโลกมากถึงสามเท่าจึงจะเกิดผล โดยเพิ่มจาก 1.1 แสนล้านบาท/ปี ในปี 2563 เป็น 3.5 แสนล้านบาท/ปี ในปี 2573

 

สำหรับในส่วนประเทศไทย นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเป็นอุปสรรค ในจำนวนนี้รวมถึงโรคมาเลเรีย

 

ทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรียได้รับการดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการให้ยารักษาโรค ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

 

 

พร้อมกันนี้ ประเทศไทยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 เมษายน 2559 พร้อมกำหนดเป้าหมายร่วมกำจัดเชื้อมาลาเรียรุนแรงให้หมดไปภายในปี 2566 ทั้งนี้จากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ นี้ ในปี 2560 ทำให้อำเภอแพร่เชื้อมาลาเรียลดลงจาก 119 อำเภอ เหลือ 85 อำเภอในปี 2563 ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย จำนวนลดลงจาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือ 3,939 รายในปี 2563 ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

ด้วยปัจจัยข้างต้นนี้ ส่งผลสำเร็จต่อการขจัดโรคมาลาเรียของประเทศไทย

 

 

อ่านรายงาน World malaria report ฉบับเต็มคลิกที่นี่