svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

2 จุด"ประยุทธ์"พลิกเกม-จับตามติขับก๊วน"ธรรมนัส"เสี่ยงโมฆะ

22 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แนวโน้มการเมืองยังคงอยู่ในโหมด "ดุเดือด" หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณ "เราสู้" ผ่านเพลง "อย่ายอมแพ้" ของ อ้อม สุณิสา นักร้องดังยุค 80 โดยเปิดเพลงผ่านมือถือ และร้องตามกลางวงประชุม ศบศ. เมื่อวานนี้

ซึ่งการแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเป็นการประกาศถึงพี่น้องประชาชนแฟนคลับ และกลุ่มผู้กองธรรมนัสว่า "สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร"  

 

สัญญาณนี้ตรงกับข้อมูลที่ "เนชั่นทีวี" ได้คุยกับคนในรัฐบาลที่นั่งประชุมกับนายกฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง โดยบอกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ในทางการเมืองต้องยอมรับว่าทำให้นายกฯเหนื่อยแน่ แต่นายกฯยังสู้ และหาทางแก้เกม เพราะมีการส่งสัญญาณขอเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ คาดว่าในสัปดาห์หน้าแนวทางจะชัดเจนขึ้น

 

สำหรับจุดพลิกเกมให้กลับมามี "แต้มต่อ" เพื่อต่อรองกับกลุ่มผู้กองธรรมนัสนั้น รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลรายนี้ ชี้ว่า ตัวแปรอยู่ที่พรรคเล็กทั้งหมด หากยังคงสนับสนุนรัฐบาลอยู่ รัฐบาลก็ยังมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ประมาณ 10 เสียง เพราะในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ช่วงปลายปี 2540 ถึงต้นปี 2544 นั้น รัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแค่ 7 เสียง

 

โดยช่วงนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน เป็นประธานวิปรัฐบาล ซึ่งก็สามารถผ่านมาได้ แต่ ส.ส.ต้องมีวินัย และรัฐบาลชุดนั้นก็อยู่จนเกือบครบวาระจึงต้องยุบสภา แต่เป็นการยุบสภาเพื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่ยุบสภาเพราะแพ้โหวต

สำหรับจุดพลิกเกมจุดที่ 2 เท่าที่ "เนชั่นทีวี" ตรวจสอบมา คือ การทำให้มติพรรคพลังประชารัฐที่ให้ขับ "กลุ่มผู้กองธรรมนัส" ออกจากพรรค เป็นโมฆะ ที่ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นคำร้องต่อ กกต.ไว้แล้ว โดยมีประเด็นที่ กกต.ต้องตรวจสอบคือ

 

1.การอ้างว่ากลุ่มผู้กองธรรมนัส 21 ส.ส. ขอปรับโครงสร้างพรรค ถ้าไม่ปรับจะเคลื่อนไหวให้พรรคเสียหาย เข้าข่ายเป็นเหตุร้ายแรงให้ต้องขับพ้นสมาชิกพรรค ตามข้อบังคับข้อที่ 54 (5) ของพรรคพลังประชารัฐจริงหรือไม่

 

2.กระบวนการขับออกจากพรรค ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน สอบสวน สมาชิกทั้ง 21 คน ก่อนลงมติ ซึ่งผิดกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เคยขับ ส.ส.งูเห่า เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ล้วนมีการตั้งกรรมการขึ้นมาไต่สวนก่อน ไม่ใช่ประชุมนัดเดียวจบแบบพลังประชารัฐ

 

3.ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่อยู่ในกลุ่มถูกขับพ้นพรรคจะทำอย่างไร เพราะย้ายไปสังกัดพรรคที่ไม่มี ส.ส. และไม่เคยส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งมาก่อน จึงไม่มี "บัญชีปาร์ตี้ลิสต์" ให้ต่อท้าย

 

4.ถ้ากระทำการขัดต่อกฎหมาย อาจเข้าข่ายยุบพรรค ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ประกอบมาตรา 94 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

จากการตรวจสอบกับกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่เข้าประชุมในวันลงมติขับ 21 ส.ส.กลุ่มผู้กองธรรมนัส ได้ข้อมูลว่า การลงมติขับ 21 ส.ส. ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน หรือสอบข้อเท็จจริงมาก่อน เป็นการมาพูดกันในที่ประชุมนัดเดียว แล้วให้ลงมติทันที ทำให้กรรมการบริหารพรรคบางคนอภิปรายทักท้วง และมีบางคนไม่ยอมลงมติ

 

หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ลงมติ "งดออกเสียง" เช่น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ซึ่งคาดว่าน่าจะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดตามมา หากเรื่องนี้บานปลายถึงขั้นถูกร้องยุบพรรค

 

นอกจากนั้นยังมีกรณีของ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ ให้ทบทวนมติพรรคขับ 21 ส.ส.ด้วย โดยเหตุผลทั้ง 8 ข้อที่นายสมศักดิ์ระบุในหนังสือ ล้วนชี้ให้เห็นว่ากระบวนการลงมติขับ 21 ส.ส. มีความไม่ชอบมาพากล และตัวนายสมศักดิ์เอง ก็ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมขบวนอยู่ในกลุ่ม 21 ส.ส.ของผู้กองธรรมนัสด้วย

logoline