- 22 ม.ค. 2565
- 1.5k
ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ หรือพื้นที่ควบคุมสีส้ม สีเหลือง สีฟ้า พร้อมกำหนด 4ข้อคุมโควิด ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผล 24 มกราคม 2565
ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่
- 1.ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 42)
- 2.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2565 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 42) ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องนั้น
โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) สามารถแพร่ได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆและประเทศไทย ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังขันแข็งของพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ได้ช่วยให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อยู่ภายใต้การควบคุม
อย่างไรก็ดียังคงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมการระบาดในบางพื้นที่เสี่ยงที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในชุมชนหรือสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มของบุคคล จึงสมควรปรับปรุงมาตรการการควบคุมแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
ข้อ 3 การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสำหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยให้ปรับมาตรการควบคุม ดังนี้
การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่
ข้อ 4 มาตรการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของโรคในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค การให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในพื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีเหลือง) ที่ได้ผ่อนคลายให้ดำเนินการได้ตามข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย
สำหรับสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักร ยังคงจำเป็นต้องปิดดำเนินการไว้ก่อน แต่หากประสงค์ปรับรูปแบบของสถานที่เพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสามารถขออนุญาตดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 4 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ราชกิจจาฯ ยังประกาศ พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว มีข้อความดังนี้
วันที่ 21 มกราคม 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2565 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สั่ง ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย
จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สำหรับบัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2565 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 มีดังนี้
พื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) รวมทั้งสิ้น 44 จังหวัด
- 1. จังหวัดกาฬสินธุ์
- 2. จังหวัดขอนแก่น (ยกเว้นอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอเปือยน้อย อำเภอพล อำเภอภูเวียง อำเภอเวียงเก่า และอำเภออุบลรัตน์)
- 3. จังหวัดจันทบุรี (ยกเว้นอำเภอเมืองจันทบุรี และอำเภอท่าใหม่)
- 4. จังหวัดฉะเชิงเทรา
- 5. จังหวัดชุมพร
- 6. จังหวัดเชียงราย (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเวียงป่าเป้า)
- 7. จังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม)
- 8. จังหวัดตรัง
- 9. จังหวัดตราด (ยกเว้นอำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง)
- 10. จังหวัดตาก
- 11. จังหวัดนครนายก
- 12. จังหวัดนครปฐม
- 13. จังหวัดนครราชสีมา (ยกเว้นอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอโชคชัย อำเภอปากช่อง อำเภอพิมาย อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอสีคิ้ว)
- 14. จังหวัดนครศรีธรรมราช
- 15. จังหวัดน่าน
- 16. จังหวัดบุรีรัมย์ (ยกเว้นอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
- 17. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ยกเว้นเทศบาลเมืองหัวหิน เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
- 18. จังหวัดปราจีนบุรี
- 19. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ยกเว้นอำเภอพระนครศรีอยุธยา)
- 20. จังหวัดพัทลุง
- 21. จังหวัดเพชรบุรี (ยกเว้นเทศบาลเมืองชะอำ)
- 22. จังหวัดพะเยา
- 23. จังหวัดมหาสารคาม
- 24. จังหวัดมุกดาหาร
- 25. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- 26. จังหวัดยโสธร
- 27. จังหวัดร้อยเอ็ด
- 28. จังหวัดระนอง (ยกเว้นเกาะพยาม)
- 29. จังหวัดระยอง (ยกเว้นเกาะเสม็ด)
- 30. จังหวัดราชบุรี
- 31. จังหวัดลพบุรี
- 32. จังหวัดศรีสะเกษ
- 33. จังหวัดสงขลา
- 34. จังหวัดสตูล
- 35. จังหวัดสมุทรปราการ (ยกเว้นบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
- 36. จังหวัดสมุทรสงคราม
- 37. จังหวัดสมุทรสาคร
- 38. จังหวัดสระแก้ว
- 39. จังหวัดสระบุรี
- 40. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ยกเว้นเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย)
- 41. จังหวัดสุรินทร์ (ยกเว้นอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอท่าตูม)
- 42. จังหวัดอุดรธานี (ยกเว้นอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายง อำเภอบ้านดุง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอหนองหาน)
- 43. จังหวัดอุบลราชธานี
- 44. จังหวัดอำนาจเจริญ
พื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีเหลือง) รวมทั้งสิ้น 25 จังหวัด
- 1. จังหวัดกำแพงเพชร
- 2. จังหวัดชัยนาท
- 3. จังหวัดชัยภูมิ
- 4. จังหวัดนครพนม
- 5. จังหวัดนครสวรรค์
- 6. จังหวัดนราธิวาส
- 7. จังหวัดบึงกาฬ
- 8. จังหวัดปัตตานี
- 9. จังหวัดพิจิตร
- 10. จังหวัดพิษณุโลก
- 11. จังหวัดเพชรบูรณ์
- 12. จังหวัดแพร่
- 13. จังหวัดยะลา
- 14. จังหวัดลำปาง
- 15. จังหวัดลำพูน
- 16. จังหวัดเลย (ยกเว้นอำเภอเชียงคาน)
- 17. จังหวัดสกลนคร
- 18. จังหวัดสิงห์บุรี
- 19. จังหวัดสุโขทัย
- 20. จังหวัดสุพรรณบุรี
- 21. จังหวัดหนองคาย (ยกเว้นอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม)
- 22. จังหวัดหนองบัวลำภู
- 23. จังหวัดอ่างทอง
- 24. จังหวัดอุตรดิตถ์
- 25. จังหวัดอุทัยธานี
บัญชีรายชื่อจังหวัดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2565 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565
พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) รวมทั้งสิ้น 26 จังหวัด
- 1. กรุงเทพมหานคร
- 2. จังหวัดกระบี่
- 3. จังหวัดกาญจนบุรี
- 4. จังหวัดขอนแก่น (เฉพาะอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอเอยน้อย อำเภอพล อำเภอภูเวียง อำเภอเวียงเก่า และอำเภออุบลรัตน์)
- 5. จังหวัดจันทบุรี (เฉพาะอำเภอเมืองจันทบุรี และอำเภอท่าใหม่)
- 6. จังหวัดชลบุรี
- 7. จังหวัดเชียงราย (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเวียงป่าเป้า)
- 8. จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม)
- 9. จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง)
- 10. จังหวัดนครราชสีมา (เฉพาะอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอโชคชัย อำเภอปากช่อง อำเภอพิมาย อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอสีคิ้ว)
- 11. จังหวัดนนทบุรี
- 12. จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
- 13. จังหวัดปทุมธานี
- 14. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะเทศบาลเมืองหัวหิน เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
- 15. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เฉพาะอำเภอพระนครศรีอยุธยา)
- 16. จังหวัดพังงา
- 17. จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ)
- 18. จังหวัดภูเก็ต
- 19. จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม)
- 20. จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด)
- 21. จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน)
- 22. จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
- 23. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย)
- 24. จังหวัดสุรินทร์ (เฉพาะอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอท่าตูม)
- 25. จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่ออำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม)
- 26. จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอบ้านดุง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอหนองหาน)