svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตากระแส ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ วันนี้ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ ต้องอ่าน

21 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฟังมุมมอง 2 นักวิชาการชื่อดัง เจษฎ์ โทณะวณิกและยุทธพร อิสรชัย ตอบคำถาม "ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่" วันนี้ กลุ่มก๊วนใคร “บิ๊กป้อม” หรือ “บิ๊กตู่” ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบมากกว่ากัน??

เป็นที่จับตาสำหรับ ปมประเด็นการเมืองไทยที่ยังคงร้อนระอุ และมีกระแสข่าวให้เกาะติดอย่างต่อเนื่อง จนคอการเมืองห้ามกระพริบตากันทีเดียว โดยเฉพาะตลอดหลายวันมานี้ พบว่าเกิดความเคลื่อนไหวมากมาย เรียกได้ว่า เกิดขึ้นแบบรายวันกันเลยทีเดียว เมื่อวานนี้ 19 มกราคม 2565 สองแกนนำสี่กุมาร นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง จับมือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงษ์ อดีตรมว.พลังงาน เปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พรรคพลังประชารัฐมีมติขับกลุ่มก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และส.ส. รวม 21 ราย ออกจากพรรคฐาน เหล่านี้เป็นเพียงฉากหน้าบางส่วนที่มองเห็นยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ซุกซ่อนเอาไว้อีกมากมายให้ต้องติดตามกันต่อไป

 

ถามว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่ การยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ในห้วงเวลานี้ได้หรือไม่ ฐานเศรษฐกิจ ตั้งคำถามกับนักวิชาการสองท่าน มีคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้  

จับตากระแส ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ วันนี้ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ ต้องอ่าน

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า การยุบสภาคงไม่เกิดขึ้นเร็ววันนี้ เพราะว่าไม่มีปัจจัยอะไรที่จะเป็นผลให้เกิดการยุบสภาเกิดขึ้น

 

แต่สมมติว่า ถ้าสถานการณ์สุกงอมจากหลายปัจจัย อาทิ ประชุมสภาล่มบ่อยๆ กฎหมายสำคัญผ่านการพิจารณาไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ กรณีศาลวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ผลทำให้ประเทศเดินไม่ได้ จนต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้นจริง กลุ่มของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ และกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะพลิกจากที่กำลังเสียเปรียบมาเป็นได้เปรียบทางการเมือง

  จับตากระแส ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ วันนี้ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ ต้องอ่าน

ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า การยุบสภาจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้แน่ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่พร้อม ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ต่อให้พ้นสถานการณ์โควิดไปแล้ว การชุมนุมกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก หรือ ยุบสภา ถึงเวลานี้จุดติดยาก

 

ถ้าจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น เชื่อว่า กฎหมายลูก คือ กฎหมายเลือกตั้งที่ต้องออกโดย กกต.ต้องพร้อมก่อน อย่างไรก็ดี หากมีการเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเพราะกกต.ก็จะยืนกฎหมายใหม่ กฎหมายที่เป็นอยู่ให้ใกล้เคียงมากที่สุด สถานการณ์การเมืองเวลานี้เป็นเรื่องของการต่อรองกัน

หากจะมองที่ความเห็นของ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวยืนยันโดยเชื่อมั่นว่า การยุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน สิ่งที่หนึ่ง คือ คำยืนยันจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่กล่าวและพูดมาตลอดว่า จะยังไม่ยุบสภา ขณะเดียวกันก็ยังไม่เห็นสัญญาณใดที่จะทำให้มีการยุบสภาเกิดขึ้น

  จับตากระแส ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ วันนี้ ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ ต้องอ่าน

กรณีกฎหมายเลือกตั้งใหม่บัตรสองใบมีผลใช้บังคับแล้วเหลือกฎหมายลูกซึ่งหากมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เชื่อว่า กกต.ก็ต้องยึดกติกาใหม่นี้ให้มากที่สุด เมื่อมองในแง่ของกฎหมายเลือกตั้งใหม่นี้ใช้การเลือกตั้งในลักษณะของคู่ขนาน สำหรับพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก คือ พรรคที่มีจำนวน ส.ส. 3 ที่นั่ง กลุ่มนี้ยังมีโอกาสอยู่ ขณะที่พรรคจิ๋ว คือ พรรคที่มี ส.ส.คนเดียวก็จะยาก

 

รศ.ดร.ยุทธพร ให้ความเห็นวิเคราะห์โอกาสและเส้นทางของพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ว่า สำหรับพรรคนี้เป็นพรรคเกิดใหม่แต่ให้มองก็เป็น พรรคสาขาของพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องดูบทบาทหลังจากนี้เพราะหากย้อนกลับไปวันที่สี่กุมารเดินออกจากพรรค พปชร.นั้นไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับพรรคมากมายอะไร เหมือนกับที่กลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจากพรรค

การสร้างพรรคใหม่วันนี้ไม่ง่าย ต้องดูในพรรค 4 กุมาร ความเป็น เทคโนแครต มีความชัดเจน แต่อย่าลืมว่า งานการเมืองซึ่งสำคัญมากสำหรับการเมืองไทยคือการขับเคลื่อนในพื้นที่ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ เมื่อตอนที่สี่กุมารลาออกมาจึงไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นภายในพลังประชารัฐมากมายนัก

 

ถามถึงความเป็นไปได้ว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะเข้าร่วมกับพรรคสร้างอนาคตไทยนี้หรือไม่นั้นก็มีความเป็นไปได้ 

 

"การเมืองไทยปี 2565 นี้ มีหลายเรื่องที่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวและยังต้องเกาะติดสถานการณ์กันต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่าทีของกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี กับ พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ, กลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส

 

การเมืองปี 2565 มี 4 เรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ท่าทีของนายกฯ ที่อาจประกาศลาออก หรือ ประกาศยุบสภา 2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี และ 4.การเกิดรัฐประหาร ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองทั้งสิ้น

 

logoline