- 18 ม.ค. 2565
- 172
ชุดปฏิบัติการ ศปป.๔ กอ.รมน. บูรณาการ่วมกับชุดพยัคฆ์ไพร พร้อมเจ้าหน้าที่ 30 นาย เข้าตรวจสอบรีสอร์ต Waterway camp หลังชาวบ้านร้องเรียนบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง
18 มกราคม 2565 ชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. นำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ ๓ (ภาคเหนือ) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑ (เชียงใหม่) หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่แตง และฝ่ายปกครองอำเภอแม่แตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 30 นาย ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ที่มีการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง ยึดถือครอบครอง ปรับพื้นที่ถมดินรุกล้ำลำน้ำแม่แตง ในท้องที่ บ.สบก๋าย หมู่ 3 ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบมีการสร้างถนนใหม่ขึ้นไปบนภูเขาเข้าไปในพื้นที่สร้างรีสอร์ต Waterway camp ยาวประมาณ 300 เมตร จนถึงริมน้ำแม่แตง รวมทั้งมีการปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได 2 ระดับ กว้างประมาณ 4 - 5 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร รุกล้ำลงไปในลำน้ำแม่แตง และปิดกั้นทางเดินสาธารณะริมตลิ่ง ที่ชาวบ้านใช้สัญจรมายาวนาน เพื่อสร้างเป็นฐานไม้กึ่งถาวรสำหรับใช้กางเต้นท์
เจ้าหน้าที่ได้สอบถาม นายต๋าคำ ขอดเรือนแก้ว อายุ ๗๘ ปี อาชีพเกษตรกร และบริการนักท่องเที่ยว อยู่บ้านสบก๋าย ม.3 ต.กื๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แจ้งว่าครอบครองพื้นที่ สค.๑ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ อยู่ติดกับพื้นที่เกิดเหตุ และได้นำสำเนา สค.๑ มามอบให้เจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อตรวจสอบข้อมูลการสำรวจการถือครองที่ดินในป่าสงวนฯ ตามมติ ครม.๓๐ มิ.ย.๔๑ พบว่ามีชื่อนายต๋าคำตรงตามข้อมูล
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์สอบถามนายต๋อย นายทุนอยู่ที่กรุงเทพฯ เจ้าของพื้นที่ว่ามีเอกสารสิทธิ์ที่ดินใดๆ หรือไม่ นายต๋อย แจ้งว่าครอบครองพื้นที่ โดยซื้อที่ดิน สค.๑ ต่อจากชาวบ้าน และได้ส่งภาพถ่าย ส.ค.๑ ทางแอปพลิเคชั่นไลน์ มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเป็น สค.๑ ฉบับเดียวกันกับนายต๋าคำ ที่นำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ปี ๒๕๔๕ พบมีสภาพเป็นป่าเป็นการบุกรุกใหม่ และไม่ปรากฎข้อมูลการสำรวจการถือครองในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว เป็นการเข้ายึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ฐาน "ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต" มาตรา ๕๕ ฐาน "ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น"
และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ประกอบ มาตรา 30 ฐาน "ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่" มาตรา ๒26/4 “ผู้กระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือ เป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น"