เป็นอีกคดีมหากาพย์ สำหรับคดีทุจริตการจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กทม. ที่ล่าสุดวันนี้ (18 ม.ค. ) ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุวิทย์ ศิลาทอง จำเลยที่ 1 น.ส.สุทิพย์ทิพย์ สุวรรณที่ 2 พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนสิริ ที่ 3 พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะที่ 4 กรณีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมาน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีอำนาจหน้าที่บริหารโครงการให้เป็นไปตามมติ ครม. ตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แต่การที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นำร่าง A.O.U. ให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ พิจารณาก่อนลงนามใน A.O.U. ที่มีมูลค่าสูงถึง 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาทเพียง 1 วัน
จึงเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่มีราคาสูง มิให้จำเลยทั้ง 4 ล่วงรู้ เพื่อให้การพิจารณาร่าง A.O.U. ผ่านไปได้โดยเร็วและร่าง A.O.U. ระบุให้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทำให้จำเลยทั้ง 4 เข้าใจว่า เป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ตามที่ ครม. มีมติอนุมัติการรับทราบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง A.O.U. จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้ง4 เข้าใจว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องแล้ว
พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 4 ฟังได้ว่าได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่าที่ทำได้ตามที่ ครม. อนุมัติในหลักการแล้ว ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 4 ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเห็นว่า เมื่อ A.O.U. เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามมติของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของ กทม. และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของกระทรวงกลาโหม ปรากฏว่า กทม.มีการเสนอขออนุมัติ ครม. เพื่อทำความตกลงกับสาธารณรัฐออสเตรีย ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งจำเลยทั้ง 4 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
ซึ่งเป็นการสลับขั้นตอนผิดไปจากการดำเนินการตามปกติ และยังเป็นการจำกัด อำนาจของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ให้ต้องจัดซื้อตามราคาที่กำหนดมาแล้ว ทั้งการแต่งตั้งจำเลยทั้ง 4 ดังกล่าวก่อนจะมีการลงนามซื้อขายในวันที่ 27 ส.ค. 57 เพียง 7 วัน เป็นการจำกัดให้จำเลยทั้ง 4 มีเวลาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏผลประโยชน์อย่างอื่นจากการกระทำดังกล่าว ที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงเจตนาจำเลยทั้ง 4 ว่าต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบแทน หรือมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ บริษัท สไตเออร์ฯ ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับ กทม.แต่อย่างใด สำหรับการกระทำที่แตกต่างกันโดยที่จำเลยทั้ง4 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วยไม่ได้ คำพิพากษาที่โจทก์อ้างไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทั้ง 4 มีเจตนาในการกระทำความผิดร่วมกับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 มานั้น องค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ไม่รอลงอาญา
โดยทั้ง 2 คนมีความผิดต่อ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ในกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานครโดยวันฟังคำพิพากษานายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงให้ออกหมายจับจำเลยทั้ง 2 คนไว้
ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานการกระทำความผิด