svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สตช. แนะ 5 ข้อ ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์

16 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะ ผู้ปกครอง ปกป้องบุตรหลาน จากภัยออนไลน์ ชี้ 5 ข้อควรปฏิบัติ เพื่อให้ลูกหลาน ปลอดภัย ในโลกโซเชียลมีเดีย

16 มกราคม 2565 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด เด็กๆ ยังต้องเรียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนผ่านทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน ทำให้เวลาที่เด็กๆ จะต้องอยู่กับอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าช่องทางออนไลน์ จะเป็นช่องทางที่ดี ในการแสวงหาความรู้ การเข้าถึงข่าวสาร สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือสร้างความบันเทิง แต่ก็ยังแฝงมาด้วยภัยหลายๆ อย่าง ทำให้ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่การใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

 

แม้ว่าเด็กๆ จะต้องเรียนหนังสือ ผ่านทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรดูแลเอาใจใส่การใช้อินเทอร์เน็ตของบุตรหลานให้ดี เพราะอาจจะมีภัยร้ายต่างๆ ที่เด็กๆ พบเจอในโลกออนไลน์ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) พฤติกรรมเสี่ยงที่เด็กๆ อาจทำในโลกออนไลน์ เนื้อหาที่อาจเกิดอันตราย การรับหรือส่งต่อข่าวสารหรือข้อมูล ที่ผิดหรือบิดเบือนไปจากความจริง และความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวจากการเข้าสู่ระบบจากการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ

ทั้งนี้ คู่มือผู้ปกครองและผู้ดูแลปกป้องเด็กให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยองค์การยูนิเซฟ ได้นำเสนอสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ เพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างทักษะการใช้สื่อ หรือรับรู้การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ของบุตรหลาน เพื่อบล็อกภัยออนไลน์ ด้วย 5 สิ่งที่ต้องทำ ดังต่อไปนี้

 

1. ตกลงเรื่องขอบเขตและความคาดหวัง ต้องทำความตกลงร่วมกัน ในเรื่องกติกาการใช้อินเทอร์เน็ต ว่าเวลาไหนใช้เพื่อความสนุก เพื่อทำงานส่งครู หรือเวลาไหนห้ามใช้งาน

 

2. ชวนคุยเรื่องความปลอดภัยออนไลน์ พูดคุยถึงกิจกรรมที่เด็กๆ กำลังทำในโลกออนไลน์ หรือร่วมกิจกรรมกับบุตรหลาน และบอกถึงสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องระวังในการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ทำให้เด็กๆ ปลอดภัย ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

 

3. ปลูกฝังให้เด็กเข้าใจค่านิยมเชิงบวก ชวนคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสิ่งที่ผู้อื่นทำแล้วส่งผลต่อเรา หรือสิ่งที่ทำแล้วส่งผลต่อผู้อื่น เพื่อการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

4. รู้จักเครื่องมือ เพื่อความปลอดภัยออนไลน์ และวิธีขอความช่วยเหลือ ตลอดจนการป้องกันความเป็นส่วนตัว เมื่อพบสิ่งที่เป็นภัย หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

 

5. เคารพความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ของบุตรหลาน ผู้ปกครองต้องระมัดระวังการแชร์ภาพ หรือทำกิจกรรมครอบครัวในโซเชียลมีเดีย เพราะการแชร์ข้อมูลเหล่านั้น อาจกระทบความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของบุตรหลาน

 

โฆษกตร. กล่าวต่อ ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ความรู้ส่วนใหญ่ที่บุตรหลานของท่านจะได้เรียนรู้ ล้วนมาจากในโลกออนไลน์ แต่ในโลกออนไลน์นั้น ก็มีภัยร้ายแอบแฝงอยู่มากมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำความเข้าใจ และคอยสอดส่องดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน เพื่อความปลอดภัยของตัวบุตรหลานของท่านเอง

 

หากพบเบาะแสการกระทำความผิด หรือพบเห็นการกระทำความผิด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้ท่าน หรือ โทร.สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

logoline