svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เผย ข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่ม BRN 3 ข้อ

16 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เผย การเจรจากับกลุ่ม BRN ที่มาเลเซีย คืบหน้าจนกำหนดสารัตถะร่วมกัน 3 ข้อ คาดปีนี้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

16 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้(15 ม.ค.) ว่า ที่โรงแรม เลอเมอริเดียน ภูเก็ตบีชรีสอร์ท ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้​ นำโดย​ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ​ หัวหน้าคณะฯ​ พร้อมด้วย​ พลโท เกรียงไกร​ ศรีรักษ์​ แม่ทัพภาคที่​ 4  นายฉัตรชัย​ บางชวด​ รองเลขาธิการ​ สมช.​ ร่วมกันแถลงความคืบหน้า​การเจรจาเพื่อสันติสุข​ หลังจากร่วมหารือกับคณะผู้แทนกลุ่มแนวร่วม​ปฏิวัติแห่งชาติ​ หรือ​ BRN​  ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย​ ระหว่างวันที่​ 11-12​ ม.ค. 65 ซึ่งมีการร่วมกำหนดสารัตถะ​ 3 ข้อ​ และคาดปีนี้​เห็นผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม​

แม่ทัพภาค 4

พลเอก วัลลภ เปิดเผยว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝั่งไทย​ และคณะผู้แทน BRN นำโดยอุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน​ และมี​ นายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย​ พร้อมผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน​ บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทั้ง​ 2 ฝ่าย​ มีท่าที​ที่มีมิตรไมตรีต่อกัน

 

ทั้งนี้เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้กระบวนการพูดคุยประสบปัญหา ไม่สามารถเดินทางไปพบปะได้​ จึงต้องชะลอไป​ แต่ทั้ง 2 ฝ่าย พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านออนไลน์​ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ​ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้า​ต่อเนื่อง​ จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ​ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมา ​โดยผลการหารือมีข้อสรุปใน​ 3 ประเด็น

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เผย ข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่ม BRN 3 ข้อ

โดยประเด็นแรก ทั้ง 2 ฝ่าย ได้พูดคุยหารือ​และเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไป​ในกรอบ​สารัตถะ 3 เรื่อง​ คือ​ การลดความรุนแรง  การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งทั้ง​ 3 เรื่อง

เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่​ ที่อยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่​ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข​ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน​ รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า​ อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่าง​ยั่งยืน​

 

ประเด็นที่​ 2 การจัดตั้งกลไก​ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสารัตถะของการพูดคุย​ โดยมีการพิจารณาจัดตั้ง​ ผู้ประสานงาน Joint​ working  group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น​ โดยเฉพาะ​ประเด็น​การลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่​ ส่วนเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง​ ซึ่งมีความซับซ้อนและละเอียดค่อนข้างมาก​ ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง​ Joint​  study​  group​ ขึ้นมาศึกษารายละเอียด หาแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้​

การจัดตั้งดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแบบกึ่งทางการ​ ที่สามารถพบปะหรือติดต่อพูดคุย​กันได้โดยตรง​ เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด​ เพื่อให้ทุกอย่างคืบหน้าไปได้

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เผย ข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่ม BRN 3 ข้อ

ประเด็นที่​ 3 เป็นประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ได้หยิบยกขึ้นมาคือ​ การลดกิจกรรมความรุนแรงของทั้ง​  2 ฝ่าย​ โดยความสมัครใจ​ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป​ รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุย ที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้น​ที่​ 

โดยคณะพูดคุยฝั่งไทย และกองทัพภาคที่​ 4 ได้เตรียมการในเรื่องดังกล่าวไว้บางส่วนแล้ว ขณะที่การพูดคุยครั้งต่อไป​ ได้หารือกันเเล้วว่าจะพูดคุย​กัน 2-3 เดือนต่อครั้ง​ แต่ขึ้นอยู่กับ​สถานการณ์โควิดด้วย

 

พลเอก วัลลภ​ กล่าวยืนยันอีกว่า​ คณะพูดคุย​ได้ มุ่งมั่น​ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล​ ในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่สามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่​ได้อย่างยั่งยืน​ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน​ ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม​ ไม่เฉพาะกลุ่ม  BRN​ รวมถึงภาคประชาชน​ เพื่อมาแสวงหาทางออกร่วมกันต่อไป​

 

โดยตลอด​ 2 ปีที่มีการพูดคุยกับ​กลุ่ม​ BRN​ จากช่วงแรกที่มีความไม่ไว้วางใจกัน จนถึงขณะนี้​เริ่มมีความเชื่อมั่นกันพอสมควร​ ผลจากการพูดคุยครั้งนี้​ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ดีมาก​ นำมาสู่การกำหนดหัวข้อประเด็นสารัตถะกันได้ 

ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น​​ ซึ่ง 1 ปีหลังจากนี้​ คาดว่าจะมองเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น​ โดยเฉพาะ​การลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ หลังจากนี้​คณะพูดคุยจะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่​ คาดว่าภายใน​ 2 ปี​นี้จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุย เรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองได้ต่อไป

logoline