svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

13 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่ แทนนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งจะหย่อนบัตรกัน 30 ม.ค.นี้ โดยเขต 9 กทม. หลักสี่-จตุจักร ผู้สมัครมากถึง 8 คน จาก 8 พรรคการเมือง เรียกว่าบรรยากาศสุดคึกคัก แทบไม่ต่างจากการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้ผู้สมัครและกองหนุนต่างสู้กันดุเดือด

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่ แทนนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งจะหย่อนบัตรกันช่วง 30 ม.ค.นี้ โดยเขต 9 กทม. หลักสี่-จตุจักร ผู้สมัครเยอะมากถึง 8 คน จาก 8 พรรคการเมือง เรียกว่าบรรยากาศสุดคึกคัก แทบไม่ต่างจากการเลือกตั้งใหญ่กันเลยทีเดียว

สำหรับผู้สมัคร ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย

นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ จากพรรคไทยภักดี หมายเลข 1

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า หมายเลข  2

นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย หมายเลข 3

นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาตร์ชาติ หมายเลข 4

นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม จากพรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 5

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล หมายเลข 6

นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 7

นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน หมายเลข 8

ความเคลื่อนไหวเลือกตั้งซ่อม"หลักสี่-จตุจักร" 

1.ถึงจะมีผู้สมัครถึง 8 พรรค แต่การเลือกตั้งหนนี้ ไม่มีประชาธิปัตย์ ร่วมวง โดยอ้างมารยาทการเมือง  

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

2.กูรูการเมืองคาดการณ์ ผู้สมัครที่มีลุ้น มาจาก 4 พรรค คือ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล และพรรคกล้า ส่วนที่เหลือมีทั้ง ตัวเบียดแย่งคะแนน และไม้ประดับ 

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

ประเด็นที่น่าสนใจหลังจากทีมข่าวลงพื้นที่เก็บข้อมูล ก็คือ 

-บ้านมีรั้ว ตอบรับผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กับพรรคกล้า 

โดย สุรชาติ เทียนทอง จากเพื่อไทย คือรองแชมป์เขตนี้ ในการเลือกตั้งปี 62

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า เป็นอดีต ส.ส.เขตนี้ 2 สมัย และฐานเสียงสำคัญก็อยู่ในพื้นที่นี้ 

-เพื่อไทย-ก้าวไกล มีโอกาสตัดคะแนนกันเอง ในฐานะฝ่ายค้านด้วยกัน ยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลเหมือนกัน 

-เช่นเดียวกับ พลังประชารัฐ กับไทยภักดี ก็จะตัดคะแนนกันเอง เพราะมีฐานเสียงใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสถาบัน 

-สถานการณ์ที่มีการตัดคะแนนกันเอง ทำให้ “พรรคกล้า” กลายเป็นตัวแปรสำคัญ 

3.สถานการณ์ล่าสุดก่อนเข้าโค้งสุดท้าย 

-พลังประชารัฐ พยายามดึงคะแนนจากเพื่อไทย โดยเน้นกลุ่มคนในชุมชน

-พรรคกล้า / พรรคก้าวไกล พยายามดึงคะแนนจากพลังประชารัฐ โดยอาศัยกระแสเบื่อลุงตู่ + เบื่อสิระ โดยชูจุดขายใหม่ การเมืองสร้างสรรค์ และมีคุณภาพ

-เจาะตัวผู้สมัคร “เพชร” กรุณพล จากก้าวไกล ได้คะแนนจากกลุ่มที่ชื่นชอบอุดมการณ์พรรค เป็นเด็กจบใหม่ ถึงวัยไม่เกิน 35 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อาศัยในคอนโดฯ แต่ด้วยตัวผู้สมัครของพรรคกล้า ที่มีภาพเป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาดีเหมือนกัน ทำให้พรรคกล้าไปดึงคะแนนจากก้าวไกล ด้วย 

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

-จุดอ่อนของพรรคก้าวไกล ก็คือ การส่ง เพชร กรุณพล แม้จะเป็นดาราดัง แต่ไม่ได้มีบ้านอยู่ในพื้นที่ คือไม่ใช่คนพื้นที่จริงๆ ขณะที่มีการสำรวจความเห็นแบบกว้างๆ ทราบว่า ร้อยละ 65-70 ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ต้องการผู้แทนยึดโยงกับพื้นที่

เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่...มีหลุดโค้ง-อาจมีโกง

-พรรคพลังประชารัฐอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว โดนทุกฝ่ายรุมทึ้ง ทั้งโลกจริง โลกออนไลน์ 

-แต่เป็นที่รู้กันดีกว่า “พลังประชารัฐ” เป็นพรรคที่มี “กำลังภายใน” มากที่สุด คนรู้ดีแนะให้จับตา  5 วันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตร ถือเป็นจังหวะพลิกเกมของพลังประชารัฐ โดยเฉพาะฝีมือของคนระดับเลขาธิการพรรค ธรรมนัส พรหมเผ่า 

 

เลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ คือ เขตนี้อาจมีโกง 

 

สาเหตุมาจากการเลือกตั้งปี 62 คะแนน 2 อันดับแรกเบียดกันมาก มีปัญหาช่วงนับคะแนน จนประกาศรับรองผลช้ากว่าเขตอื่นของกรุงเทพฯ และสุดท้าย สิระ เจนจาคะ เอาชนะไปได้แบบพลิกความคาดหมาย

หนนี้หลายพรรคจึงเปิดแคมเปญช่วยกันจับจ้อง ระวังคนโกง 

บางพรรคออกมาเปิดตัวเลขการซื้อเสียง และเริ่มพูดถึงกระบวนการ “เก็บบัตรประชาชน” 

วิธีการ “เก็บบัตรประชาชน” คุณผู้ชมคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง วิธีการนี้ นักเลือกตั้งนิยมใช้กันมากในระยะหลังๆ เพราะกลเม็ดโกงแบบอื่น ทำได้ยาก เนื่องจากโทรศัพท์ของทุกคนมีกล้อง จึงเหมือนมีตา และมีอุปกรณ์บันทึกความไม่ชอบมาพากลได้ตลอดเวลา 

 

แต่การ “เก็บบัตรประชาชน” คือการทุจริตเลือกตั้งแบบเนียน แถมยังใช้กันอยู่อย่างดาษดื่น 

กระบวนการ “เก็บบัตรประชาชน” เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง มีวิธีการที่ซับซ้อนและเป็นระบบมากกว่าที่หลายคนคาดคิด  โดยมีรูปแบบการดำเนินการ และเป้าหมายดังนี้ 

1.ใช้กลไกหัวคะแนน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ รวมไปถึง กลไก อสม. เป็นผู้ดำเนินการหลัก 

2.มีการทำกันอย่างเป็นระบบ เมื่อเก็บบัตรประชาชนมาแล้ว นำมาคีย์ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ ไม่ใช่หมายความว่า เก็บบัตรมาแล้ว จะนำเงินไปแลกกับคะแนนได้ทันที / วิธีการคือ 

-นำเลขบัตรประชาชนมาจัดเก็บลงระบบ แบ่งพื้นที่ แยกหมู่บ้าน ชุมชนอย่างชัดเจน
-วิเคราะห์ว่าเจ้าของบัตรประชาชนจะเลือกผู้สมัครฝ่ายเรา หรือผู้สมัครคนอื่น
-นำมาคำนวณคะแนนก่อนจ่ายเงินได้ว่า ตอนนี้มีคะแนนที่เลือกผู้สมัครฝ่ายเราแน่ ๆ เท่าไหร่ มีคนที่ยังลังเล สองจิตสองใจจำนวนเท่าไหร่ และใครที่จะเลือกผู้สมัครคนอื่นแน่ๆ 
-วิเคราะห์ต่อว่า คนที่ลังเล เป็นญาติกับใคร หรือเป็นคนของใคร จุดอ่อนอยู่ตรงไหน ก็จะส่งคนไปพูดคุย ขอร้อง ขอคะแนน หรือกดดัน 
-ข้อมูลเหล่านี้ นำมาปรินท์เป็นแผ่นใหญ่ ติดผนัง ติดในห้องประชุม เพื่อประชุมวางแผนได้ทันที 

 

3.เมื่อได้ข้อมูลครบแล้ว ก็จะแบ่งผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนออกเป็น 3 ส่วน 

หนึ่ง เลือกเราแน่ๆ เก็บบัตรประชาชนมาแล้ว จ่ายเงินมัดจำ จากนั้นในวันเลือกตั้ง ก็เดินทางไปหย่อนบัตรพร้อมกัน และรับเงินส่วนที่เหลือ คืนบัตรประชาชน

สอง คนที่ยังลังเล จะมีการสรุปข้อมูลสุดท้ายว่าเลือกหรือไม่เลือกฝ่ายเรา อาจมีการขู่ว่า ถ้าฝ่ายเราชนะเลือกตั้ง จะไม่ได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ เพื่อกดดันให้เลือก

สาม คนที่ไม่เลือกเราแน่ๆ กับคนที่ยังลังเล และมีแนวโน้มไม่เลือกเรา อาจมีการจ่ายเงินซื้อบัตรประชาชนไว้ แล้วคืนให้หลังเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ไปลงคะแนนให้คู่แข่ง 

สี่ นำบัตรประชาชนไปใช้กาเป็นบัตรผี (กรณีนี้ต้องซื้อยกหน่วย และต้องมีอำนาจรัฐในพื้นที่นั้น) 

 

นี่คือกลเม็ดการโกงในรูปแบบ “เก็บบัตรประชาชน” ส่วนราคาค่าเก็บบัตร ก็มีตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพัน หรือหลายพันบาท และใช้ในการเลือกตั้งแทบทุกระดับ ส่งผลให้ผู้ที่มีอำนาจรัฐได้เปรียบ ทั้งอำนาจรัฐระดับชาติ และระดับท้องถิ่น (ถ้าเป็นกลุ่มเดียวกัน พวกเดียวกัน ยิ่งง่ายต่อการโกง)

logoline