svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

Exclusive : ดร.มานะ ห่วงคอร์รัปชั่นไทย 7 ปีพบเสี่ยงทุจริต8หมื่นโครงการ

12 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.มานะ เปิดเผยกับเนชั่น ออนไลน์ ในแต่ละปีประเทศไทยจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นจำนวน 3 ล้านรายการ แต่ปี 64 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เป็น 1.5 ล้านล้านบาท จัดซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านรายการ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สัมภาษณ์พิเศษ เนชั่น ออนไลน์ กรณีตรวจสอบทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตลอดระยะเวลา 7 ปี พบกว่า 8 หมื่นโครงการส่งกลิ่นมีพิรุธ โดยหน่วยที่มีปัญหาอันดับหนึ่งคือ กรมชลประทาน ตรวจพบ 6,197 โครงการ กรมการปกครอง ตรวจพบ 2,513 โครงการ และลดหลั่นลงไปเป็นกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กรมทางหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณเยอะมากในแต่ละปี 

 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทยจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นจำนวนทั้งหมด 3 ล้านรายการที่ซื้อในแต่ละปี แต่ในปี 2564 ตัวเลขงบประมาณพุ่งขึ้นสูงทำลายสถิติ จากการจัดซื้อ 1.1 ล้านล้านบาท เป็น 1.5 ล้านล้านบาท และจำนวนราการที่จัดซื้อเพิ่มจาก 3 ล้านรายการ/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านรายการ/ปี

 

สาเหตุที่การใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น เป็นการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และยังมีเงินงบประมาณเข้ามาเติมมากขึ้นจากเงินกู้ เงินอุดหนุนจากรัฐ และหน่วยงานจำนวนมากมีการนำเงินสะสมออกมาใช้จ่ายในช่วงนี้ 

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมในรายการสืบสวนความจริง วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 เวลา 10.10 น. ทางช่องเนชั่นทีวี 22

โกงซ่อนเงื่อน..


การจัดซื้อภาครัฐมักเป็นไปตามแบบแผนที่ต้องมีคณะกรรมการ มีการอนุมัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนมีช่องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเจรจาวางแผนโกงได้ เช่น
1. ขั้นตอนเขียนโครงการ ของบประมาณ อาจมีการวิ่งเต้นให้อนุมัติโครงการหรืองบประมาณ แบ่งการจัดซื้อเป็นหลายโครงการให้วงเงินน้อยลง ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ 
2. ขั้นตอนเขียนทีโออาร์ มีการล็อคสเปกหรือวางเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง 
3. ขั้นตอนเปิดประมูลหรือจัดซื้อโดยวิธีอื่น มีการฮั้วประมูล สมยอมราคา แบ่งงานกันไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กีดกันหรือเปิดเผยความลับแก่คู่แข่งขันบางราย 

 

4. ขั้นตอนทำสัญญาและบริหารสัญญา มีการรับสินบน ช่วยเหลือเอกชน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มีการลักสเปก ลดเนื้องาน แก้แบบ เพิ่มเนื้องาน โยนภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างให้หน่วยงาน
5. ขั้นตอนรับมอบงาน ส่งงานไม่ได้คุณภาพหรือผิดเงื่อนไข ยกเว้นค่าปรับหรือปรับน้อยเกินจริง จ่ายเงินผิดเงื่อนไข เอกชนฉ้อโกงหน่วยงานแต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นต้น

ขั้นตอนเขียนทีโออาร์และการประมูล ถือเป็นสองช่วงสำคัญที่มีการโกงอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นมากที่สุด
 

logoline