svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"สรรพากร" ขอเวลาถึงสิ้นเดือน แจ้งเกณฑ์ "เก็บภาษีคริปโทฯ"

10 มกราคม 2565

กรมสรรพากร ออกหนังสือชี้แจงต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องของหลักเกณฑ์การคิดคำนวณภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ย้ำหาความเป็นธรรมให้แก่นักลงทุน

10 มกราคม 2565 กรมสรรพากร ออกหนังสือชี้แจง ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เปิดรับฟังทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กรมสรรพากร เร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องของหลักเกณฑ์การคิดคำนวณภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป

 

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางในเรื่องของหลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในเดือนม.ค.2565

 

 

"สรรพากร" ขอเวลาถึงสิ้นเดือน แจ้งเกณฑ์ "เก็บภาษีคริปโทฯ"

 

 

ทางกรมสรรพากรได้เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น รวมถึง​ เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ดำเนินการในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล

 

เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนและบริบทในปัจจุบัน โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและทุกฝ่ายเป็นสำคัญ

 

"ในช่วงเกือบปีที่ผ่านมา การลงทุนและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ของประเทศไทย มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ทั้งสำหรับผู้เสียภาษีและกรมสรรพากร"

 

 

ซึ่งกรมสรรพากรไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้มีการศึกษาและประมวลผลต่างๆ มาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการเพื่อหาความชัดเจนในเรื่องนี้

 

 

"สรรพากร" ขอเวลาถึงสิ้นเดือน แจ้งเกณฑ์ "เก็บภาษีคริปโทฯ"

 

อย่างไรก็ดี​ กรมสรรพากรยังคงยึดแนวทางของการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer – Centric) จึงพร้อมที่จะหาแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครองหรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวของประเทศต่อไป