svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บิ๊กตู่" ปี 65 "โดนเสือกัด" หรือ "ลงจากหลังเสือ"

30 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความท้าทายของรัฐบาลในปี 2565 ซึ่งตรงกับปีขาล ที่มองว่าเป็น "ปีเสือดุ" นั้น แม้แต่หมอดู หรือนักโหราศาสตร์ พยากรณ์ดวงชะตาหลายๆ คน จากหลายๆ สำนัก ยังฟันธงว่า รัฐบาลไปไม่รอด ต้องสิ้นอายุก่อนวาระภายในปี 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากมองในมุมรัฐศาสตร์ก็คล้ายๆ กัน

ความท้าทายของรัฐบาลประกอบด้วย

 

1.ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ เพราะนายกฯยังแก้ปัญหาไม่จบ ยึดพรรคไม่ได้ ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคก็ยังอยู่ ความขัดแย้งนี้ถ้าเรื้อรังต่อไป ไม่เป็นผลดีทั้งกับ "บิ๊กตู่" และ "ผู้กอง" แต่ครั้นจะกลับมาคืนดีกัน ประชาชนก็จะมองว่าเป็นการ "กลืนน้ำลาย"

 

ฉะนั้นจึงมีทางเดียว คือ นายกฯ ต้องยึดพรรคให้ได้ และกำจัดเสี้ยนหนามความขัดแย้งให้หมดไป และเดินหน้าฟื้นศรัทธาพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการจัดตั้งพรรคใหม่ เช่น พรรคเศรษฐกิจไทย ก็ดูจะไม่ใช่ทางออกที่ดีในทางการเมืองแล้ว โดยเฉพาะกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนเป็น "บัตร 2 ใบ" 

 

2.ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล

 

- กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ย้อนศร อ้างมารยาท ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ ถือเป็นร่องรอยความขัดแย้งชัดเจนอย่างมากระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคพลังประชารัฐ

 

- การที่พรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมที่เขต 6 สงขลา และเขต 1 ชุมพร ก็ตอกย้ำความขัดแย้งเช่นกัน เพราะไม่สนมารยาททางการเมืองใดๆ

 

- ช่วงใกล้เลือกตั้ง แต่ละพรรคยิ่งเร่งหาเสียง หาคะแนน ก็จะเกรงใจกันน้อยลง โอกาสขัดแย้งรุนแรงมีมากขึ้น

 

3.ส.ส.โดนตัดสิทธิ์ โดนหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือโดนสั่งให้พ้นสมาชิกภาพจำนวนมาก หลายคนเป็นขุนพลสำคัญ เช่น วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. ทั้งสองคนเป็นทีมป่วนในสภา คอยตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม เมื่อหมดคนเหล่านี้ไป ทำให้รัฐบาลอ่อนยวบ เกมสภาสู้ฝ่ายค้านลำบาก ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ นิโรธ สุนทรเลขา ก็บารมีไม่ถึง

 

"บิ๊กตู่" ปี 65 "โดนเสือกัด" หรือ "ลงจากหลังเสือ"

4.ปัญหาสภาล่ม เป็นผลต่อเนื่องจาก 3 ปัญหาแรก ทำให้การเดินงานการเมืองไม่มีเอกภาพ ไม่มีเสถียรภาพ จะโหวตแต่ละครั้งต้องรอลุ้น ร่างกฎหมายสำคัญเสนอเข้าสภาไม่ได้ รัฐบาลโดนวิจารณ์อย่างหนัก

 

5.เครดิตหมด คนแห่ย้ายหนี เนื่องจากลูกพรรคแพ้คดีที่ถูกกล่าวหาจนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จำนวนมาก อนาคตพรรคไม่ชัดเจน เพราะแกนนำสำคัญขัดแย้งกัน หนำซ้ำยังถูก "พลังดูด" จากพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ดูด "ศิษย์เก่า" กลับบ้าน ตามเป้าหมายชนะแบบแลนด์สไลด์ของ "คนแดนไกล" 

 

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐประกอบด้วยหลายกลุ่มก๊วน และส่วนใหญ่แตกตัวมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย จึงมีโอกาสโดนถูกดูดกลับสูง สุดท้ายทำให้พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสสูงที่จะแพ้เลือกตั้ง หากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

 

 

ขณะที่ ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า นายกฯต้องเด็ดขาด ไม่พะรุงพะรังเหมือนที่ผ่านมา หากทำได้จะได้กระแสกลับมา โดยต้องจัดการปัญหาภายในพรรค เช่น ปัญหาผู้กองธรรมนัส และปัญหากลุ่มก๊วนต่างๆ ให้เด็ดขาด

 

ดร.ไชยยันต์ ยังมองว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลน่าจะไม่ยุบสภาหรือถึงจุดจบง่ายๆ ในปี 65 ด้านหนึ่งเป็นเพราะนายกฯดวงดี มีวิกฤติมาช่วยตลอด ไม่เหมือนมาซ้ำเติมสถานการณ์ แต่ก็ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำได้ยาก เช่น การระบาดของโควิด-19 ทำให้การเมืองบนท้องถนนขับเคลื่อนยาก เป็นต้น  และสุดท้ายทุกพรรคการเมืองแทบไม่มีพรรคไหนพร้อมเลือกตั้งจริงๆ เลย จึงมีโอกาสที่จะต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไป

 

"บิ๊กตู่" ปี 65 "โดนเสือกัด" หรือ "ลงจากหลังเสือ"

 

ด้าน ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน และยังเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง วิเคราะห์ถึงแนวโน้มทางการเมืองในปี 65 หรือ "ปีเสือดุ" ซึ่งน่าจับตาว่านายกฯจะโดน "เสือกัด" หรือไม่ หรือจะ "ลงจากหลังเสือ" ได้อย่างสง่างาม 

 

ประเด็นแรก ปี 65 จะเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่? โดย ดร.สุรชาติ มองว่า ถ้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกสิ้นสุดลงได้จริง ก็จะถึงเวลายุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญในการปกครอง เมื่อรัฐธรรมนูญถูกแก้ไข เป็นกฎกติกาชุดใหม่ เท่ากับบังคับให้รัฐบาลเดิมจำเป็นต้องยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และเปิดการเลือกตั้งใหม่ตามกติกาใหม่ที่ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือ "มารยาททางการเมือง" ที่สำคัญ

 

ประเด็นที่สอง ปี 65 เสถียรภาพของรัฐบาลจะยังมั่นคงสถาพรหรือไม่? ซึ่ง ดร.สุรชาติ บอกว่า เสถียรภาพของรัฐบาลมี 2 ส่วน คือ

 

1.เสถียรภาพที่เกิดจากการแก้ไขวิกฤติใหญ่ๆ ในประเทศ เช่น ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ ฟื้นเศรษฐกิจได้ แบบนี้รัฐบาลมีเสถียรภาพแน่นอน

 

2.เสถียรภาพทางการเมืองในบริบทของพรรคร่วมรัฐบาล มีตัวชี้วัดหลายตัว เช่น สภาล่มบ่อย สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ พรรคร่วมรัฐบาลแข่งกันเองในศึกเลือกตั้งซ่อมอย่างน้อย 3 พื้นที่ คือ สงขลา ชุมพร หลักสี่ เกิดปัญหาเสถียรภาพแน่ และทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาเสถียรภาพในรัฐบาลอย่างชัดเจน

 

ประเด็นที่สาม ปี 65 จะมีอุบัติเหตุหรือจุดเปลี่ยนทางการเมืองหรือไม่? ดร.สุรชาติ อธิบายว่า อุบัติเหตุทางการเมือง ถ้าหมายถึงการรัฐประหาร ขอให้คนที่คิดจะทำ เลิกคิด เพราะจะทำให้ประเทศไทยกลายสภาพเป็นแบบเมียนมา

 

ส่วนม็อบลงถนน หรือการเมืองบนท้องถนน ต้องรอดูท่าทีของคนรุ่นใหม่ว่าจะรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้หรือไม่ รวมถึงความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางการดำเนินนโยบายประชานิยมสุดขั้วของรัฐบาล

 

นอกจากนั้นก็ยังมีอุบัติเหตุในสภา เช่น สภาล่ม ร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเองถูกตีตก หรือแพ้โหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหล่านี้ล้วนเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ 

 

ประเด็นที่สี่ ท่าทีและการสื่อสารของนายกฯ จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นหรือไม่? อาจารย์สุรชาติ มองว่า โจทย์การสื่อสารทางการเมืองเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกรัฐบาล ทุกวันนี้คนส่วนหนึ่งรู้สึกว่า การสื่อสารทางการเมืองของนายกฯ ทำให้ภาพลักษณ์ผู้นำรัฐบาลดูไม่ดี แม้จะมีกองเชียร์อยู่ก็ตาม

 

แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือ "วิสัยทัศน์เชิงนโยบาย" ที่สะท้อนผ่านการสื่อสารทางการเมือง คำถามคือ นายกฯและรัฐบาลจะขายอะไรในเชิงวิสัยทัศน์ในปี 65 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สถานการณ์ประเทศดีขึ้นได้จริงๆ นอกเหนือจากสิ่งที่เคยพูดมาแล้ว เช่น ปลูกมะนาว ปลุกผักชีในค่ายทหาร หรือเลี้ยงไก่บ้านละ 2 ตัว

logoline