วันนี้ (12 ธ.ค.64) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องโดยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการและข้อกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการลดหย่อนโทษในคดีคอรัปชั่น โดยเฉพาะคดีทุจริตสำคัญร้ายแรงทุจริตจำนำข้าว
"จดหมายเปิดผนึก กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ศาลยุติธรรม คณะกรรมการปปช องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น และ พี่น้องประชาชนคนไทยที่รักความเป็นธรรม
เรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการและข้อกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการลดหย่อนโทษในคดีคอรัปชั่นที่มีปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะคดีทุจริตสำคัญร้ายแรงทุจริตจำนำข้าว
โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขเป็น3 ระยะดังนี้
แนวทางเร่งด่วน
นายกรัฐมนตรีควรสั่งให้ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษที่สังคมให้ความเชื่อถือ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้แทน จากกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการอัยการ กรรมการปปช องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น ผู้แทนสื่อมวลชนฯลฯ ร่วมดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน30วัน ระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้การลดหย่อนโทษดังกล่าวออกไประยะหนึ่งก่อน โดยกรรมการควรมีหน้าที่ตรวจสอบอย่างน้อยดังนี้
1)ตรวจสอบกฎกติกาและกระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษที่มีรายชื่อเข้าเกณฑ์ลดโทษในคดีร้ายแรงสำคัญเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับคดีนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ร้ายแรง คดีฆ่าคนตายที่มีโทษประหารชีวิต คดีฆ่าข่มขืนที่เป็นภัยสังคมร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ ฯลฯ ที่เดิมมีนโยบายไม่ลดโทษแบบคดีทั่วไปเพราะคดีทุจริตโกงจำนำข้าวเป็นคดีพิเศษร้ายแรงสำคัญ ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์ลดโทษเช่นคดีปกติทั่วไป
2)เร่งตรวจสอบกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ ในการใช้ดุลยพินิจทุกขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดี และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ในการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดเป็นชั้นดี ชั้นเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ว่ามีเหตุต้องสงสัยหรือไม่ที่อาจมุ่งให้เฉพาะนักโทษเด็ดขาดบางคน มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิพิเศษต่อเนื่อง เพื่อรอเวลาพระราชทานอภัยโทษตามห้วงเวลาสำคัญประจำปี โดยอ้างว่าทำถูกกฎหมายและระเบียบหรือไม่
3)ถ้าพบปัญหาจากข้อ1)และข้อ2)เป็นรายบุคคลให้นำเสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะรายหรือเฉพาะคดี หากเป็นปัญหาข้อกฎหมายให้เสนอแก้ไขกฎหมายหรือกฎกระทรวงหรือระเบียบ
4)ให้แก้ไขนำหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ พศ2559 กลับมาใช้เป็นเกณฑ์
แนวทางระยะกลาง
1)ครม/ สส /ประชาชน ยื่นเสนอแก้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์2560 มาตรา52และมาตราที่เกี่ยวข้อง
ให้เพิ่มระยะเวลาปลอดภัยแก่สังคม 15-20ปี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีโทษหนักประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือมีโทษจำคุกในคดีสำคัญพิเศษร้ายแรง ได้แก่ คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีฆาตกรฆ่าข่มขืน คดีทุจริตสำคัญร้ายแรง ฯลฯ ต้องได้รับโทษขังในเรือนจำขั้นต่ำไม่น้อยกว่า15-20 ปี หรืออย่างน้อย1ใน3หรือกึ่งหนึ่งของโทษโดยจะไม่มีการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนด
เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า สังคมจะปลอดภัยจากผู้กระทำผิดร้ายแรง
ที่เป็นภัยสังคมจะยังอยู่ในเรือนจำ ในระยะเวลาอย่างน้อย15- 20ปี
หรืออย่างน้อย1ใน3หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลมีคำพิพากษา
2)ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งการลดโทษหรือพักโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยเฉพาะคดีความผิดภัยสังคมร้ายแรงที่มีโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่20ปีขึ้นไป โดยให้กรมราชทัณฑ์ ทำเรื่องขอไปยังศาลให้พิจารณา และเป็นการช่วยคัดกรองการรับโทษอย่างเหมาะสมพอเพียง การปรับปรุงตัว ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะทำเรื่องนำนักโทษคดีสำคัญเหล่านั้น เข้ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนความผิดต่ำกว่านั้นให้คณะกรรมการราชทัณฑ์ดำเนินการตามกฎหมายเองได้ต่อไป
3)ควรแก้ไขกฎหระทรวงและระเบียบราชทัณฑ์นักโทษคดีสำคัญ
ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ได้แก่นักโทษประหารชีวิต นักโทษจำคุกตลอดชีวิต นักโทษจำคุก20-50ปีขึ้นไป นักโทษคดีทุจริตร้ายแรง หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคม เช่นฆ่า ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ก่อนที่นักโทษเหล่านี้จะได้รับลดโทษการปล่อยตัวจำเป็นต้องมีการประเมินความพร้อม และต้องจัดให้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เข้าประเมินร่วมด้วย
แนวทางระยะยาว
1)แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา91 เพื่อให้ผู้ต้องทำที่กระทำผิดร้ายแรงหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ศาลได้พิพากษาให้นักโทษได้รับการลงโทษจริงมากกว่ามีข้อห้ามจำคุกไว้ไม่เกิน50ปี ตามที่มีข้อจำกัดเดิม
2)เร่งแก้ไขปัญหาคนล้นคุกอย่างจริงจัง ควบคู่มาตรการอื่นๆอย่างจริงจังอาทิ มาตราการค่าปรับแทนจำคุก การบริการทางทางสังคม การบำบัดยาเสพติด การเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม การให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้มีหนี้สิน การติดแท้กส์อิเลคทรอนิคส์ติดตามความเคลื่อนไหวฯลฯ และการให้ประกันตัวผู้ต้องหาแทนการคุมขังระหว่างสู้คดี
3)ควรพิจารณาอนุญาตให้มีโครงการเรือนจำเอกชน และโครงการจัดแยกสถานที่กักขังผู้ต้องหาที่ศาลไม่อนุญาตประกันตัว ออกจากเรือนจำปกติ
ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา กฎหมายประเทศในยุโรปและหลายประเทศสากล เช่น
ฝรั่งเศสได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา132 - 23(6) กำหนดว่า คดีที่ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลจะต้องกำหนดมาตราการปลอดภัยให้สังคมคือการห้ามลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัวก่อน18ปี และหากศาลเห็นว่า เป็นผู้กระทำผิด ศาลสามารถกำหนดระยะเวลาปลอดภัยให้สังคมได้18-22ปี ดังนั้นักโทษร้ายแรงที่ถูกศาลจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษหนัก50ปี จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำแน่นอนอย่างน้อย18-22ปี โดยไม่รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด
และเมื่อครบกำหนด18-22ปี ในระยะปลอดภัยของสังคมที่ศาลกำหนดแล้ว ศาลจะเป็นผู้ประเมินการปล่อยตัวเป็นรายๆพร้อมกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวหรืออาจยังให้ยังขังต่อไปในเรือนจำจนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาหรือมีการเสนอให้ศาลประเมินใหม่
กระบวนการลดโทษ ปล่อยตัวของไทยเป็นระบบปิด โดยฝ่ายบริหารของกรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยศาลไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องใด ทั้งๆที่กระบวนการยุติธรรมของไทยเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวนในชั้นตำรวจ ปปช จนถึงขึชั้นอัยการในการส่งฟ้อง
และมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพิจารณาคดีนานอย่างหนักทั้งผู้ฟ้องคดี อัยการ โจทก์หรือจำเลย บางคดีต่อสู้กันถึง3ชั้นศาลแต่พอชั้นพักโทษ ลดโทษ หรือปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ให้คนออกจากคุก กลับไม่มีกระบวนการให้ยุติธรรมแบบเดียวกัน จึงสมควรแก้กฎหมายให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพักการลดโทษหรือปล่อยตัวนักโทษคดีสำคัญร้ายแรง คดีอุฉกรรจ์ ที่ส่งผลร้ายต่อสังคมก่อนที่คณะกรรมการราชทัณฑ์ จะนำเข้าสู่กระบวนลดโทษ พักโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษ จึงเรียนเสนอมาเพื่อช่วยกันพิจารณาแก้ไขหาทางออกคืนความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับชาติบ้านเมืองและสังคมไทย"
#ร่วมคัดค้านนิรโทษกรรมจำนำข้าวสุดซอย