svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วช.ถอดรหัสงบประมาณ “วิจัยคุมโควิด-19”

26 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วช.ถอดรหัสการจัดสรรงบวิจัยเร่งด่วนกับเบื้องหลังทัพหน้า "วิจัยคุมโควิด-19" ในงานThailand Research Expo 2021

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ในภาคเช้าได้มีการจัดเวทีเสวนา "เรื่องการถอดรหัสการจัดสรรงบวิจัยเร่งด่วนกับเบื้องหลังทัพหน้า "วิจัยคุมโควิด" 

 

ฉายภาพรวมการแก้ไขปัญหาของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลากว่า 2 ปี ประเทศไทยสามารถรับมือทั้งที่สำเร็จและที่ยากลำบาก แต่ผ่านมาได้อย่างดี สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนี้คือ การวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

 

วช.ถอดรหัสงบประมาณ “วิจัยคุมโควิด-19”

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ  นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (กสว.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้เห็นภาพว่า มีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปแบบการบริหารจัดการงานวิจัยใหม่ โดยใช้สถานการณ์ที่มีอยู่และโจทย์จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีเป้าหมายเดียวกันร่วมมือกันและส่งต่อผู้ใช้งานจริง พร้อมรับฟังโจทย์ของผู้ใช้เพื่อให้การแก้ปัญหาของประเทศได้จริง 

 

นอกจากนี้ไทยถือว่าก้าวมาถูกทางแล้วที่รวบรวมงบประมาณวิจัยมาอยู่ในกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ทำให้สามารถตัดสินใจจัดสรรงบประมาณวิจัยในสถานการณ์ฉุกเฉินได้

 

 

ทั้งนี้โควิด-19 เป็นโรคใหม่ จึงต้องเรียนรู้จากโรค และต้องรวบรวมสรรพกำลังเพื่อต่อสู้กับโรค โดยในการวิจัยจะต้องมี 

  1. ต้องมีเป้าหมายที่ตรงกัน หน่วยงานวิจัยต่างๆของประเทศที่มีอยู่ ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดของไข้หวัดนกในอดีต มีการจัดลำดับเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ 
  2. มีผู้คุมนโยบาย ได้แก่ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สอวช.) ที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน แบ่งงาน กระจายงาน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดการร่วมมือกัน 
  3. การจัดสรรงบประมาณ เป็นหน้าที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)​ เป็นงบวิจัยเร่งด่วนที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ผลดีจากการปฏิรูปงบประมาณวิจัยเมื่อ2ปีที่มีวช.ดูแลงบวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ

 

วช.ถอดรหัสงบประมาณ “วิจัยคุมโควิด-19”

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่าวช.เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในชุดบริหารจัดการช่วยคลี่คลายสถานการณ์โควิด การระบาดในช่วงปี2563 ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการวช.ในขณะนั้น ได้ปรับแผนงบประมาณเพื่อรองรับการบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ที่ใช้วิจัยและนวัตกรรมมาทำงานร่วมกับภาคด่านหน้า 

 

การวิจัยช่วงปี 2563และ2564 จึงมีความแตกต่างในแต่ละช่วงเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เวชภัณฑ์ ใช้ชุดข้อมูล ใช้อุปกรณ์ รวมถึงการติดตามสถานการณ์การได้รับวัคซีน กรอบงานเรื่องพันธุกรรมของเชื้อโควิด กระบวนการส่งเสริมวัคซีน การคัดกรอง เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเร่งรัดทำงานเพื่อให้ได้ชุดข้อมูล

 

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยปี 2563 มีการใช้งบประมาณมากกว่า  800 ล้านบาท วช.มีสัดส่วนอยู่ 20%  ส่วนในปี 2564 ใช้งบประมาณ 1,200 ล้าน เป็นส่วนของวช.ประมาณ 24% มีการวิจัย 2 ปีรวม 402 โครงการ โดยในปี 2564 มีการวิจัยเกิดขึ้นเพิ่มมากประมาณ 300 โครงการ

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ประเด็นวันนี้ทุกคนได้เรียนรู้หลายอย่างด้วยกันและมีการเรียนรู้เพิ่มเติมหลายเรื่อง ส่วนเรื่อง "โควิด-19" ที่เราเผชิญกันมาเป็นการเรียนรู้จากการทำงานที่เราได้ใช้เรียนรู้ร่วมกันมาในเรื่องการวิจัยมาสู่การปฏิบัติ คงอยู่ที่รหัสที่สำคัญ คือ "การมีเป้าหมายร่วม" ถ้าทุกคนมีเป้าหมายร่วมไปสู่ที่เดียวกันและนำมาด้วยการปรับแนวคิดที่เราทำงานในยุคใหม่ ไม่มีตัวตน หรือนิวแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำไม่ได้อยู่ในกระดาษอย่างเดียว ถ้าเราร่วมทำงานแบบนี้ประสบการณ์ โควิด จะทำให้เราได้ก้าวไปสู่ สมาร์ทลิฟวิ่ง หรือการร่วมกันแบบอัจฉริยะแบบโลกยุคใหม่

 

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า ตนอยากบอกว่างานวิจัยมันอยู่กับเราตลอด ไม่ว่าวันนี้หรือต่อไป ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลง งานวิจัยเป็นส่วนที่ช่วยให้เราตัดสินใจไปทางที่ถูกและอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งที่มีการระบาดทำให้เห็นถึงความร่วมมือ และเห็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ถ้าระบบสนับสนุนงานวิจัยดี นักวิจัยอยากทำ และมีการตอบสนอง ผลงานวิจัยมันจะไปเร็ว และอยากบอก กับ ดร.วิภารัตน์ว่าอดีตการทำวิจัยเราต้องของบประมาณล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งล่าช้าและทำให้นักวิจัยไม่อยากทำ 

 

วช.ถอดรหัสงบประมาณ “วิจัยคุมโควิด-19”

 

พอตอนนี้มีปัญหาที่ใหญ่ และนักวิจัยอยากทำ มีการตอบสนองเรื่องงบประมาณ การเก็บข้อมูลต่างๆทุกอย่างมันจะเร็วหมด ส่วนที่ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร พูดถึงเรื่องข้อมูลวิชาการที่จะเผยแพร่สู่ประชาชน อยากให้ช่วยมีการปรับภาษาจากวิชาการเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เรารับหมดทุกโครงการที่เป็นงานวิชาการเกี่ยวข้อง อีกทั้งกรมการแพทย์ยังมีข้อมูลวิจัยทีจะกลั่นกรองสกัดออกมาให้อยุ่ในพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งต้องดูเรื่องการประเมินว่าข้อมูลที่ได้มาดีมากน้อยแค่ไหน

 

ด้านนพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เราทำวิจัยในประเทศไทยควรทำอะไร การแก้ปัญหา โควิด ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นปัญหาของโลก เราจะไปทำแข่งขันการแก้ปัญหาของโลกมันไม่ทัน ไม่มีศักยภาพ และก็ไม่ควร  แต่ควรมองเรื่องส่วนที่เราต้องทำโลคอล คอนเทนต์  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำ มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 

  1. ตรงไปตรงมา และเรื่องระบาดวิทยาต้องเป็นของใครของมัน บ้านใครบ้านมัน ใครระบาดอย่างไร เชื้อเป็นอย่างไร  
  2. ข้อจำกัดของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรว่าเรามียา มีวัคซีนแค่ไหน ที่ผ่านมาโจทย์จะเห็นชัด เราไม่มีวัคซีน,วัคซีนไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องใช้ระบบแบบ วัคซีนไขว้ไปไขว้มา

 

 

วช.ถอดรหัสงบประมาณ “วิจัยคุมโควิด-19”

ซึ่งขยายความในเรื่องสูตรวัคซีนไขว้ คนก็งง ตนอยากขยายในเรื่องของฝั่งวิจัยในห้องปฏิบัติการเรื่องวัคซีนไขว้และมีการบูทวัคซีนต่อ ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าจะให้วัคซีนป้องกันโควิด ที่ดีมีภูมิคุ้มกันสูงต้องเป็นแบบ เบาแล้วไปแรงดีที่สุด มันเป็นการบอกร่างกายว่าต้องฉีดวัคซีนซ้ำไปอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน

"การที่โจทย์ของเราเป็นโลคอล คอนเทนต์ คือการใช้วัคซีนและยาฟาวิพิราเวียร์มหาศาล ซึ่งเรายังไม่มีการทำวิจัย หรือ ชาวโลกยังไม่ยอมรับ เรายอมรับกันเอง และผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องรีบทำวิจัย"

 

นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เรื่องการนำผลวิจัยไปใช้งาน แต่ก็มีบางเรื่องที่เราทำกันแล้วยังไม่มีข้อมูลเป็นผลสรุป ถ้ามีการตีพิมพ์แล้วนำไปใช้ก็ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น แต่มีหลายเรื่องที่ยังคาใจ ที่บอกว่าอัตราการตายต่ำ หมอหลายคนบอกว่าเป็นเพราะเราใช้ยา ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หรือวัคซีน ยังไม่มีข้อสรุปออกมาชัดเจนหรือเป็นระบบ ทำให้เกิดความสับสนและงงๆ แต่ถ้ามันมีการมานั่งคุยกันจากหลายฝ่าย ถ้ามีการสร้างแพลตฟอร์มรองรับ ถ้าทุกคนช่วยกันดูและแชร์ความคิดร่วมกันจะเป็นผลที่ดีมาก ยังมีหลายคำตอบที่ต้องทำให้ชัดเจนว่าการลงตามวิจัยที่มีการตีพิมพ์แล้วมันชัดเจนจริงหรือไม่ ซึ่งโจทย์ของเราต้องพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับนานาชาติต่อไป

 

 

logoline