svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

23 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิเคราะห์การลงทุน มองปรากฏการณ์ควบรวม 2 ค่ายสื่อสารยักษ์ใหญ่ พลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผ่านรายการ The Daily Life

จากการเซ็น MOU ร่วมมือกันระหว่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับ กลุ่มเทเลนอร์ ส่งผลแก่ผู้ให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 ราย ปรากฏณ์จากดีลนี้ส่งผลกระทบอะไรกับผู้บริโภคบ้าง ทางด้าน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) จะต้องมีท่าที เคลื่อนไหวอย่างไร

 

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กสิกรไทย ได้แสดงความเห็นในหลากหลายแง่มุมที่ส่งผลต่อผู้บริโภคไว้น่าสนใจ ในรายการ “The Daily Life” ทางช่องเนชั่นออนไลน์ ดำเนินรายการโดย "ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า"

 

ทางเลือกที่เหลือน้อยของผู้บริโภค

“การควบรวม ถ้าเป็นธุรกิจประเภทอื่นๆ อย่าง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือโรงพยาบาล ควบรวมกันยังไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ เพราะยังมีทางเลือกอีกเยอะ แต่ธุรกิจสื่อสาร เป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะ กึ่งๆ ไฟฟ้า น้ำประปา

 

บางคนยังเข้าใจผิดว่า ไฟฟ้า ประปา ก็ผูกขาด แต่นี้เป็นรัฐวิสาหกิจ เขายอมที่จะกำไรน้อย หรือยอมขาดทุนได้ เพราะว่าเขาเป็นบริษัทที่ถือร้อยเปอร์เซ็นต์โดยรัฐ ไม่ได้มีหน้าที่ทำกำไร หน้าที่ของเขา คือการให้บริการแก่ประชาชน แต่เอกชนเป้าหมายหลัก คือทำกำไรสูงสุด ไม่เหมือนกันครับ กสทช. หรือองค์กรรัฐ หรือภาคเอ็นจีโอ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อจากนี้ไปต้องทำงานหนักขึ้น

 

ผมไม่อยากให้พวกเรามองผู้ประกอบการเอกชนเป็นปีศาจทั้งหมดนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้เขาต้องปฏิบัติตามกฎใหม่ ที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social, and Governance) ต้องมีสิ่งที่เขาจะต้องทำเพื่อคืนแก่สังคม ตัวกำไรสูงสุดก็คงจะต้องทำอยู่ แต่ว่าไม่ใช่กำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม จริยธรรม ภาคสังคมเลย

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

"การทำธุรกิจในทุกวันนี้ กฏสากลนี้จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นเหมือนหลักประกันให้เราในระดับหนึ่ง ไม่ใช่พอควบรวมกันแล้ว จะขึ้นราคาพร้อมกัน เดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ๆ ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เรากลัว

 

ผมคิดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการลดราคาแบบหนักๆ แบบในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง แค่การลดราคาลดลงเทียบกับปริมาณการใช้งานของคนที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ แค่นี้รายได้ของเขาก็โตแล้ว”

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

การควบรวมเกิดขึ้นทั่วโลก

“ปีนี้เป็นปีแห่งการควบรวม ถ้าดูจากต้นปีมีการควบรวมมาตลอด เฉพาะในตลาดอาเซียน มี 4-5 ดีล อย่างมาเลเซีย  INTUCH ( อินทัช โฮลดิ้งส์) กับ GULF  (กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์)  หรือที่อินโดนีเซีย ก็มีบริษัทเอเชียต้า (Axiata)  ตามมาที่อินโดนีเซีย ล่าสุดก็เป็นคิวของบ้านเรา เบอร์  2 กับ เบอร์ 3

 

ความสามารถในการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำลงเรื่อยๆ ถ้าดูย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนโควิด รายได้ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำ โตแพ้จีดีพี ขณะเดียวกันต้องลงทุนทั้งเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ เรื่องของการขยายโครงข่ายโครงข่ายจาก 4G เป็น 5G แล้วก็แย่งช่วงชิงลูกค้า ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างต่ำ

 

บางทีเราอาจจะไปสนใจอยู่ที่รายได้ รายได้เยอะจริง ทั้งอุตสาหกรรมน่าจะ 3-4 แสนล้าน แต่กำไรนอกจากรายใหญ่แล้วเบอร์  2 ทุน เบอร์ 3 ก็กำไรเหลืออยู่แค่ 3-5 พันล้านต่อปี ขณะเดียวกันต้องลงทุนปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

"จุดนี้ก็ทำให้ความน่าสนใจของผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจต่อลดลง  พอความน่าสนใจลดลง เขาก็ต้องคิดว่าเขาจะขยายตลาดไปต่างประเทศดีไหม หรือว่าเขาจะขยายธุรกิจแนวข้าง แล้วก็แนวดิ่ง ไหวไหม ถ้าทำ 2 อย่างนี้ไม่ได้ก็ลดจำนวนผู้เล่นในตลาดดีกว่า เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน”

 

 

เมืองไทยผู้คุมกฎขาดประสบการณ์

“แต่ละประเทศมีกฎหมายที่เข้มงวด การควบรวมกิจการก็ทำได้ยาก อย่างในอเมริกา สแกนดิเนเวีย ก็ทำได้ลำบาก เพราะว่าตัวผู้ที่คุมกฎเองเขาค่อนข้างจะแข็งแรง แล้วก็ยึดในหลักของการแข่งขันที่สมบูรณ์ หลายๆ ดีล ที่เห็นขึ้นมาไม่ผ่าน ต้องไปกลับไปแข่งกันใหม่

 

ก็ต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์ของบ้านเรา ผู้คุมกฎไม่ค่อยมีประสบการณ์เรื่องการจัดการการควบรวมกิจการ เพราะมันไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บ้านเราไม่ค่อยได้เกิด การเกิดขึ้นทีหนึ่งก็ใหญ่เหลือเกิน ผมคิดว่าด้วยมีประสบการณ์น้อย โอกาสที่จะกำกับดูแลได้ไม่ทั่วถึง หรือไม่ครบถ้วน

 

ผมว่าในตัวแบรนด์เขาจะลดลงเหลือแค่ 1 แบรนด์ แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมี 2 แบรนด์ ทิ้งไว้ต้นทุนก็สูงกว่า แล้วทำให้ลูกค้าสับสนเปล่าๆ  การรวมแบรนด์เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น แต่อาจจะมีซัพแบรนด์ อย่างวันนี้เราก็เห็นซัพแบรนด์อยู่พอสมควรเหมือนกันทั้งเอไอเอส และดีแทค ก็มีซัพแบรนด์”

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

อำนาจเหนือตลาด กับ ผลประโยชน์ของผู้บริโภค

กสทช.ต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลระหว่างผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด กับผลประโยชน์ของผู้บริโภค มีวิธีการมากมายที่จะไปกำกับดูแล อย่างเช่น ต้องไปดูเรื่องของต้นทุน ไปดูเรื่องของราคาขาย ดูเรื่องของคุณภาพบริการ  ผมว่า กสทช.มีหน่วยงานหรือทีมงานที่จะดูแลเรื่องพวกนี้อยู่แล้วนะครับ

 

ทางเลือก กสทช. มี 2 ทาง  คือ ทางที่ 1 มุ่งเน้นไปที่บริการใหม่ที่เรียกว่า MVNO (Mobile Virtual Network Operator)  อันนี้เราเห็นเยอะเหมือนกันในตลาดสิงคโปร์ และมาเลเซีย คือไม่ต้องสร้างโครงข่ายเอง ซื้อ Capacity ซื้อ Deta มาจากผู้ประกอบการได้ในราคาขายส่ง แล้วมาขายต่อผู้บริโภคในราคาขายปลีก

 

วิธีการที่ 2 คือทำแบบที่สิงคโปร์ หรือฟิลิปปินส์ ให้มีการออกใบอนุญาต ตอนนี้มีคลื่นเหลืออยู่ 1008 ก็เหลืออยู่ คลื่น 3500 คลื่น 850 ที่จะดึงคืนมาจากดีแทค ก็เอาคลื่นที่เหลืออยู่ออกมา ให้รายใหม่เข้า ให้ตรงนี้ไปในราคาถูก แล้วให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดเปิดโครงข่าย ให้บริษัทใหม่เข้ามาร่วมใช้งานในราคาต้นทุนที่สมเหตุสมผล อันนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เห็นที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ทำอยู่

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เงินเยอะ แล้วประเทศเราไม่ได้เล็กๆ เหมือนสิงคโปร์ ลองคิดดูถ้าผู้ประกอบการรายใหม่มีโครงข่ายที่ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ  ก็สู้ยาก เคยเห็นเหตุการณ์มาแล้ว อย่างเช่น  ฮัทชิสัน ที่มีพื้นที่ให้บริการแค่ 25 จังหวัด ต่อให้ของดีราคาถูกแต่โครงข่ายน้อย ผู้บริโภคก็ไม่เอา ไปต่อไม่ได้”

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

ทิศทาง เบอร์ 1 กับ กระแสย้ายค่ายเบอร์เดิม

“จะเป็นที่หนึ่ง หรือเป็นเบอร์ 2 มันเป็นภาพมายา อย่าไปยึดติด สุดท้ายนักลงทุนสนใจที่ว่าผู้บริหารขยายธุรกิจไปตรงไหนมีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนมากน้อยขนาดไหน ผมว่านี่คือสิ่งนักลงทุนสนใจ อย่างเอไอเอส ไปร่วมมือกับทาง SCB ทำ Digital Lending  

 

ส่วนเรื่องผู้บริโภคมีความชอบไม่ชอบในแบรนด์ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างที่จะอีโมชัน (Emotion) ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ ถ้าตามเหตุและผลมาดูว่าบริการดีไหม บริการหลังการขายดีไหม ขายเครื่องราคาถูกไหม แล้วก็ราคาที่เราใช้สมเหตุสมผลไหม จะอยู่แบรนด์ไหน็เหมือนกัน แต่แน่นอนมนุษย์เรามันก็มีเรื่องของอิโมจินัล

 

แต่ความโชคร้ายก็คือจะย้ายจากทรู ดีแทค ไปเอไอเอส ก็อยู่กลุ่มเดียวกัน คือ  กลุ่มทุนไทย ความน่าสนใจก็คือ คนที่ไม่ชอบฝั่งขวาและอยากออกไปทางซ้ายเขาก็ไม่มีทางเลือกเหมือนกันนะ ก็คงจะเลือกที่ขวาน้อยกว่า ซึ่งก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า (เริ่มเสี่ยงแล้วนะครับพูดเรื่องนี้)”

 

 

จับตาหุ้นสื่อสาร

“ผมอยากให้ใครที่สนใจเรื่องของการลงทุน ลองไปเปิดดูราคาหุ้นของกลุ่มสื่อสารในช่วงปี 2014 เพราะเป็นปีที่ก่อนเราจะมีการประมูลการประมูล 4G ที่ดังไปทั่วโลก เพราะว่าราคาแพงมาก ตอนนั้นราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าวันนี้จะขึ้นมาแล้วนะครับ ในหุ้นทั้ง 3 ตัว ในปี 2014 อยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ค่อนข้างเยอะ

 

ทรู – ดีแทค ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง” จากดีลแสนล้าน (มีคลิป)

 

จะบอกว่าเหตุผลที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศทิ้งหุ้นกลุ่มสื่อสาร หรือไม่สนใจตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะว่ากลุ่มสื่อสารต้องเผชิญกับวิบากกรรม ทั้งเรื่องของการประมูลคลื่นที่แพงมาก แพงเกินไป ประมูลเสร็จก็ต้องเร่งลงทุนโครงข่าย ลงทุนเสร็จ ก็ต้องมาแจกเครื่องเพื่อที่จะย้ายสัมปทานไปเป็นใบอนุญาต แจกเครื่องเสร็จก็ต้องมาลดราคาเพื่อแย่งลูกค้ากัน ถ้าดูผลตอบแทนจากเงินลงทุนมันลดต่ำลงมากนะครับ

 

ผมจำได้บริษัทเอไอเอส มีผลตอบแทนจากเงินทุนอยู่ที่ 20-25 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เหลืออยู่แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เบอร์ 1 แล้วมีขนาดใหญ่ยังได้แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เบอร์ 2 ติดลบ เบอร์ 3 ก็อยู่ในระดับที่ต่ำสิบ นี่คือเหตุผลที่ทำให้หุ้นกลุ่มสื่อสารแย่มาโดยตลอด

 

แต่จากนี้เป็นต้นไปการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการตลาดในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าถ้าควบรวมสำเร็จและเป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ เราน่าจะเห็นหุ้นในกลุ่มสื่อสารกลับมาเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ”

 

 

 

พบกับรายการ The Daily Life ทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 1 ทุ่มตรง ทางเนชั่นออนไลน์

 

กราฟิก : กรุงเทพธุรกิจ

logoline