svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ซุกหมายจับ-โยงส่วย ผิดวินัยแค่นั้นหรือ?

18 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ตร. ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามคาใจจากหลายๆฝ่าย เกี่ยวกับ "คดีเสี่ยโจ้" และปมประเด็น "หมายจับหายไปจากสารบบ" ดังนี้

1.ท่าทีของ ผบ.ตร. เหมือนกับสรุปเบื้องต้น เป็น "ธง" ให้เดินหน้ากันต่อว่า กรณีนี้เป็นความผิดทางวินัยเท่านั้น ไม่น่าจะมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดอาญา ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายมองว่า ถ้าตรวจสอบลึกลงไป เรื่องนี้อาจมีค่าจ้าง หรือค่าน้ำร้อนน้ำชาด้วยหรือไม่ ถ้ามี ย่อมเท่ากับเป็นส่วยสินบน ต้องมีความผิดทางอาญาด้วย แต่ถ้าเอาผิดแค่วินัย ก็จะกลายเป็นความผิดแนวๆ ประมาทเลินเล่อ ไม่ทำตามระบบระเบียบ แบบนี้ก็ส่อว่าจะผิดวินัยไม่ร้ายแรงอีกต่างหาก

 

2.เรื่อง "เสี่ยโจ้" ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อราชการร้ายแรงหรือไม่ โดยเฉพาะการจับผู้ต้องหาสำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็น "จำเลยหนึคุก" ด้วยซ้ำ แต่กลับต้องปล่อยหลุดมือไป เพียงเพราะไม่มีหมายจับในคดีที่ศาลพิพากษาจนถึงที่สุดแล้วให้จำคุก แบบนี้เท่ากับการลงทุนลงแรงที่จับกุม "เสี่ยโจ้" มาได้ ต้องสูญเปล่าใช่หรือไม่ เพราะปัจจุบัน "เสี่ยโจ้" ก็หนีหายไปแล้ว ถ้าเรื่องลักษณะนี้ถือว่าส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อราชการ ก็จะเกิดคำถามว่า ลงโทษแค่สอบวินัย ไม่เบาไปหน่อยหรือ

 

3.ผบ.ตร.พูดถึงเฉพาะ 3 คดีที่ยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน แต่ 11 คดีที่จบแล้วไม่ได้พูดถึง ทั้งๆ ที่มีอยู่คดีหนึ่ง คือคดี "เสี่ยโจ้" หลบหนีจากที่ควบคุมของศาล กรณีหนีจากศาลในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาจำคุก และไม่ไห้ประกันตัว เมื่อปี 2557 คำถามคือ คดีนี้ก่อนที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจต้องเสนอความเห็นสมควรสั่งฟ้องไปก่อนใช่หรือไม่

 

ซุกหมายจับ-โยงส่วย ผิดวินัยแค่นั้นหรือ?

 

แล้วเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งสำนวนกลับมาให้ตำรวจทำความเห็น ว่าจะ "เห็นแย้ง" หรือ "เห็นด้วย" แล้วเหตุใดตำรวจจึงไม่ทำความเห็นแย้ง ไปเห็นด้วยกับอัยการทำไม เนื่องจากปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าตำรวจไม่เห็นแย้งอัยการ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า "เสี่ยโจ้" หลบหนีได้ เนื่องจากมีตำรวจพาหนีชัดเจน

4.เหตุการณ์ "ซุกหมายจับ" เป็นความบกพร่องส่วนบุคคล หรือ human error จริงตามที่ ผบ.ตร.บอก หรือจริงๆ แล้วมีความพยายามช่วยเหลือ "เสี่ยโจ้" อย่างเป็นชบวนการ เพราะเมื่อปี 2555 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยอื่นๆ เข้าไปค้นบ้านและสำนักงานของ "เสี่ยโจ้" กระทั่งพบบัญชีการจ่ายผลประโยชน์ ซึ่งต่อมามีการเอาผิดนายตำรวจระดับสูงไปหลายนาย

 

ข้อมูลสำคัญ คือ การจ่ายส่วยที่เรียกว่า "จ่ายรายการ" เป็นการจ่ายจากเครือข่ายของ "เสี่ยโจ้" ไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการระบุชื่อหรือหน่วยงานของผู้รับ และจำนวนเงินที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงปลายปี 2555 แบ่งเป็นกลุ่มตามจำนวนเงินที่จ่ายรายการ ตั้งแต่หลักล้าน ลงไปถึงหลักร้อย

 

ซุกหมายจับ-โยงส่วย ผิดวินัยแค่นั้นหรือ?

 

กลุ่มแรก รายการเกิน 1 ล้านบาท หรือ "รายการหลักล้าน" สูงสุด คือ รายการบิ๊กตำรวจระดับผู้การ จำนวน 12 ล้านบาท ค่ารายการตำรวจน้ำคนใหม่ 1 ล้านบาท ค่ารายการของดีเอสไอ โอนให้บุคคลที่ใช้ชื่อย่อ "ล." จำนวน 1.6 ล้านบาท

 

ซุกหมายจับ-โยงส่วย ผิดวินัยแค่นั้นหรือ?

 

 

 

 

กลุ่มที่สอง หลักแสนบาท ส่วนใหญ่จ่ายให้ตำรวจประจำเรือ มีการระบุชื่อเรือ รวมถึงดีเอสไอ

 

กลุ่มที่สาม รายการหลักหมื่น ส่วนใหญ่อยู่ในอัตรา 5 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็น "รายการตำรวจน้ำ" รวมไปถึงช่วยกิจกรรมวันเด็กของตำรวจน้ำ จ่ายเป็นงวดรายเดือนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

ที่น่าสนใจ คือ มีค่าดูข่าวที่ศาล 2 หมื่นบาท มีค่าเมมเบอร์ สำหรับเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ

 

กลุ่มที่สี่ รายการหลักร้อยถึงหลักพัน ส่วนใหญ่เป็นรายการจ่ายส่วยรายเดือนให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ

 

เมื่อเรื่องราวของ "เสี่ยโจ้" เกี่ยวข้องกับการ "จ่ายรายการ" หรือ "จ่ายส่วย" ให้กับตำรวจหลายๆ หน่วย และที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีการสอบสวนเอาผิดกันอย่างชัดเจน ยกเว้นนายตำรวจระดับสูง 3-4 นายที่โดนดำเนินคดี ที่สำคัญรายการส่วยที่จ่ายไป ยังมีค่าใช้จ่ายถึงขั้น "ค่าดูข่าวที่ศาล" มีหน้าที่เหมือนสอดแนมว่าศาลกำลังพิจารณาคดีอะไร มีหลักฐานอะไร

 

ซุกหมายจับ-โยงส่วย ผิดวินัยแค่นั้นหรือ?

 

หนำซ้ำตอนหลบหนีจากศาล ก็มีตำรวจพาหนี แบบนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การซุกหมายจับ "เสี่ยโจ้" เป็นแค่ human error จริงๆ หรือ

logoline