svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทีดีอาร์ไอ ชี้ รัฐไทยถ้าทำแบบเดิม ไปต่อไม่ไหว

17 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีดีอาร์ไอ ประเมินคุณภาพภาครัฐไทย ไม่พร้อมรับโลกใหม่ แก้ปัญหาซับซ้อนไม่ได้ ด้านนายกรัฐมนตรี สอนราชการไทยต้องพัฒนา จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม

จากงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”  นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการนำเสนอ “ปรับรัฐราชการไทย สู่รัฐเครือข่าย ให้ตอบสนองโลกใหม่” ว่าระบบราชการไทยแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในโลกใหม่ได้

 

ภาครัฐไทยตอบสนองช้าต่อปัญหาที่เกิดขึ้นฉับไว อย่างการจัดหาวัคซีนเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดล่าช้า และการทำงานแยกส่วนกันจนไม่สามารถแก้โจทย์ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลายมิติอย่างมลพิษทางอากาศได้ และมีประสิทธิภาพถดถอยลงในด้านการบริหารจัดการโครงการพัฒนาประเทศ

 

ตัวอย่างหนึ่ง คือการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ที่ไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในโครงรางรถไฟทางคู่ระยะที่หนึ่งที่กำลังจะเสร็จในปี 2565 ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

แนะ 2 หัวใจสำคัญในการบริหาร

ภาครัฐไทยต้องปรับตัวจากการบริหารงานแบบราชการรวมศูนย์ไปสู่ “รัฐเครือข่าย” ซึ่งมีหัวใจสำคัญ 2 ประการ

 

ประการแรก คือ ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น นั้นก็คือการที่ภาครัฐส่วนกลางเองมองเห็นศักยภาพของภาคส่วนอื่นนอกหน่วยรัฐ ทั้งท้องถิ่น ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม และเห็นประโยชน์ร่วมของการทำงานกับภาคส่วนอื่น

 

ประการที่สอง คือ ความยืดหยุ่น ซึ่งภาครัฐต้องมุ่งที่ไปผลลัพธ์มากกว่าการยึดติดขั้นตอนของตัวเอง และปรับขั้นตอนการทำงานให้เชื่อมต่อเข้ากับภาคส่วนอื่นได้ง่าย พร้อมทั้งกล้าทดลองและยอมรับความล้มเหลวได้

 

ทีดีอาร์ไอ ชี้ รัฐไทยถ้าทำแบบเดิม ไปต่อไม่ไหว

“ในการทำงานแบบเครือข่าย รัฐส่วนกลางเองก็ไม่ควรยึดว่าตนเองต้องเป็นผู้ริเริ่ม แต่เปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่นนำได้ ทั้งเครือข่ายท้องถิ่น เครือข่ายประชาสังคม และเครือข่ายภาคธุรกิจ ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยมีตัวอย่างการทำงานเครือข่ายหลากหลายแบบ เช่น กรมสรรพากรจัดกิจกรรม “Hackatax” โดยเชิญภาคธุรกิจเข้ามาทำงานกับเจ้าหน้าที่สรรพากรและแข่งขันกันปรับปรุงบริการด้านภาษี” 

 

ผ่อดีดี

ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการสร้างเครือข่ายสุขภาพ “ผ่อดีดี” ในการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ โดยมีการทำแอปพลิเคชันให้คนในพื้นที่รายงานการตายของสัตว์ที่ผิดปกติเข้ามาให้ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทราบ เพื่อการรับมือรักษาพร้อมป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเพื่อสังคมอย่างบริษัท OpenDream วิเคราะห์ความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด ซึ่งหากมีโอกาสสูง ก็จะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่

 

ส่วนท้องถิ่นเองก็มีการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ของตนเองอย่างเทศบาลแสนสุข ร่วมมือกับมหาวิยาลัยบูรพา และบริษัทเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีสายคล้องคอ และสายข้อมืออัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถกดปุ่มฉุกเฉินเรียกเพื่อนบ้านและทีมฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน  

 

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในประเทศ

 

OpenDream

อย่างไรก็ตาม ราชการไทยยังเน้นคิดเองและทำเองค่อนข้างมาก ไม่ได้เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นมากนัก ทำให้การทำงานแบบเครือข่ายยังมีค่อนข้างจำกัด

 

อีกทั้ง ภาครัฐมีการรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรต่าง ๆ ไว้ที่ส่วนกลางค่อนข้างมากดังจะเห็นได้จากกำลังคนในภาครัฐที่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางถึงร้อยละ 60 อีกประมาณร้อยละ 22 เป็นกำลังคนในส่วนภูมิภาค และมีที่เหลือเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่ทำงานในท้องถิ่น

 

ส่วนการกระจายอำนาจที่ผ่านมามีลักษณะการถ่ายโอนภารกิจแบบเป็นส่วน ๆ ตามแผนงานของหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้อย่างครบวงจร อีกทั้งยังมีกฎระเบียบจำนวนมากที่จำกัดอิสระของท้องถิ่น  เช่น ในการดูแลผู้สูงอายุ มีการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนมาให้ท้องถิ่นแล้ว แต่ท้องถิ่นทั่วไปที่ไม่ใช่เมืองอัจฉริยะไม่สามารถใช้งบจัดซื้อเทคโนโลยีมาดูแลผู้สูงอายุได้ และมีงบในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้ไม่เกิน 9 พันบาท/คน/ปี 

 

"การก้าวเข้าสู่รัฐเครือข่ายจำเป็นต้องสร้างสมดุลอำนาจและการทำงานระหว่างรัฐส่วนกลาง ท้องถิ่น ธุรกิจ สังคมไปพร้อมกัน ภาครัฐส่วนกลางจะเข้มแข็งแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ การทำงานแบบรัฐเครือข่ายจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนการพัฒนาที่มีศักยภาพ และมีท้องถิ่นที่จัดการแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น ภาคธุรกิจที่คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาสังคมได้ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่พร้อมจะลุกขึ้นแก้ปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ" ศุภณัฏฐ์กล่าว

 

"รัฐเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบการเมืองเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อำนาจ มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจและมีการใช้อำนาจรัฐควบคุมสังคม"

 

เสนอ 4 แนวทางในการปรับไปสู่รัฐเครือข่าย

 

1.ปรับบทบาทของภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนการทำเครือข่ายมากขึ้น โดยต้องลดการมองตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการเพียงผู้เดียว และเปิดภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการมากขึ้นเพราะภาคส่วนอื่นมีข้อได้เปรียบในการให้บริการมากกว่า

เช่น ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าและรู้โจทย์ลึกกกว่า ส่วนภาคธุรกิจมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ด้านภาครัฐควรทำหน้าที่ในส่วนที่จะช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบให้เกิดการทดลองวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ให้งบอุดหนุนในการขยายผลนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดี และกำกับดูแลการทำงานของภาคส่วนอื่น

 

ทีดีอาร์ไอ ชี้ รัฐไทยถ้าทำแบบเดิม ไปต่อไม่ไหว

 

2.กระจายอำนาจสู่เครือข่ายท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นทำแผนการกระจายอำนาจเองด้วยการระบุภารกิจทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของพื้นที่ พร้อมพิจารณาโละกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่จำกัดอิสระการบริหารของท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่นดึงภาคธุรกิจและสังคมเข้ามาร่วมทำงานเป็นเครือข่ายและรับการประเมินความพร้อมในการรับถ่ายโอน

 

นอกจากนั้น ควรต้องมีการปรับเพิ่มงบอุดหนุนที่ท้องถิ่นบริหารได้อย่างอิสระ รวมทั้งการเพิ่มอำนาจในการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น เพราะปัจจุบัน แม้งบทั้งหมดของท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 30 ของรายได้สุทธิของรัฐแล้ว แต่หากตัดงบอุดหนุนที่มีการระบุภารกิจจากส่วนกลางและนับเฉพาะรายได้ภาษีที่ท้องถิ่นได้รับจริง งบที่ท้องถิ่นสามารถบริหารได้จริงจะเหลือเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น

  

3.ส่งเสริมการแข่งขัน ลดการผูกขาด โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขกฎระเบียบที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เช่น กฎหมายที่กำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทหรือกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทและต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี 

 

4.ส่งเสริมศักยภาพของภาคประชาสังคม โดยลดการขยายขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐในการควบคุมสังคม เช่น ถอดร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายการพยายามควบคุม NGOหรือแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่หลายครั้งมีการใช้ไปในทางควบคุมเนื้อหาการวิพาษ์วิจารณ์ความเห็นต่าง

 

นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ควรต้องมีการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมากขึ้นอย่างการเปิดเผยข้อมูล (Open data) ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น 

 

ศุภณัฏฐ์ ทิ้งท้ายว่า “การจะเป็นรัฐเครือข่ายที่เข้มแข็ง รัฐต้องเลิกวางอำนาจคุมสังคม ไม่ผูกขาดอำนาจทางความคิด จินตนาการและอนาคต เพราะการพัฒนาประเทศต้องการเมืองที่เปิดกว้างและเปิดรับเจตจำนงของคนทุกกลุ่ม”

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

จากการเสวนา ทำให้นึกถึงวาทะเด็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงข้าราชการไทย ในระหว่างการเดินทาง ครม.สัญจร จ.กระบี่ วันที่ 15 พ.ย. ดังนี้  

 

นายกฯ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ มาตั้งแต่เกิด ที่เป็นทุกวันนี้พัฒนามาจากทหาร และคิด ปรึกษาหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนของประชาชน อะไรที่เสนอมา ผมก็ดูแล แต่งบประมาณเป็นเรื่องของ ครม.ซึ่งมี 20 กว่ากระทรวงที่จะต้องทำงาน ทั้งงบกลาง งบฟังชั่น ที่จะต้องดูแลในหลายส่วน ไม่ใช่เงินน้อยๆ แต่จะต้องใช้ตามระเบียบ ก็ต้องพยายามใช้อย่างเต็มที่และระมัดระวัง

 

เราต้องทำให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น การค้าขายนำไปสู่ระบบออนไลน์ ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเราใช้ปัญาเศรษฐกิจพอเพียง มีเงินมากใช้มาก มีเงินน้อยใช้น้อย มีเหตุผลในการใช้จ่าย และต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ส่งเสริมกระบวนการทุจริตทั้งสิ้น นายกฯ พร้อมรับฟัง ใครทุจริตขอให้บอกมา ไม่ต้องกลัว”

 

logoline