svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ลุ้นวันนี้ ผู้ถือหุ้นชี้ชะตายานแม่ SCBX

15 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลุ้นผู้ถือหุ้น “ไทยพาณิชย์” ไฟเขียว ยานแม่ "SCBX" ทะยานยกระดับ "เทคโนโลยีการเงิน" ของภูมิภาคภายในปี 2568 ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแล้ว

15 พฤศจิกายน 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อขออนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ ! หลังจาก เมื่อ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดมีมติเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB GROUP) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยานแม่เทคคอมพานี” จนทำให้เกิดกระแส “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” 

ลุ้นวันนี้ ผู้ถือหุ้นชี้ชะตายานแม่ SCBX

เปิดปฏิบัติการปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้การขับเคลื่อนของบริษัทแม่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) โยกผู้ถือหุ้น SCB ไปถือหุ้น SCBX แทน พร้อมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ยังใช้ชื่อหุ้นเดิม SCB การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กรอายุเกินกว่า 100 ปี เพื่อเป็นการเร่งขยาย “ธุรกิจเชิงรุก” เข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568

ผู้ชนะในโลกใหม่ ต้องเป็นผู้สร้างธุรกิจที่เป็น “Network effect” เท่านั้น วลีเด็ดของ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เคยให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้ ดังนั้นจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่ในธุรกิจธนาคารแบบเดิมอีกต่อไป แต่จะต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค

 

วันนี้ (15 พ.ย. 64) ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นผ่านมติดังกล่าว ในเดือนม.ค.-ก.พ. 2565 ผู้ถือหุ้นตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBX (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBX) โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90% และในเดือนมี.ค. 2565 หุ้น SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิกถอนหุ้น SCB ในวันเดียวกัน รวมทั้งในเดือนมิ.ย. 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ SCBX จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการดังต่อไป

ลุ้นวันนี้ ผู้ถือหุ้นชี้ชะตายานแม่ SCBX

โดยโครงสร้างของ SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์” และ “กลุ่มธุรกิจใหม่” สร้างการเติบโต ตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2564-2568) ตั้งเป้าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 200 ล้านรายจากปัจจุบันฐานลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 16 ล้านราย โดย SCBX กำไรต้องเติบโตระดับ 1.5-2 เท่า หรือ มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) แตะ “1ล้านล้านบาท” โดย SCBX จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นี่คือเป้าหมายของแม่ทัพใหญ่ SCBX 

“วันนี้เรามีฐานลูกค้าแบงก์เอง 16 ล้าน แอฟโรวินฮู้ด 2 ล้านคน และจากที่จับมือกับ เอไอเอส 40 ล้านคน และหากมีการจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอีก ฐานลูกค้าก็จะใหญ่ขึ้น และเมื่อเราก้าวขึ้นไปในระดับภูมิภาค และระดับโลก ฐานลูกค้าอาจจะก้าวกระโดดจาก 200 ล้านคน เป็น 2,000 ล้านคนได้”

ลุ้นวันนี้ ผู้ถือหุ้นชี้ชะตายานแม่ SCBX

ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ คงไว้ซึ่งความขลังของ “แบงก์ใบโพธิ์” ที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน มุ่งเน้นรักษาการเติบโตกำไรที่ระดับ 30,000 ล้านบาทต่อปี นำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

 

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจใหม่ สร้างการเติบโต จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็น “ธุรกิจม้าเร็ว” เป็นธุรกิจดั้งเดิมของธนาคารทำกำไรเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ที่แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทย่อย คือ บริษัท ออโต้ เอ็กซ์ จำกัด และ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด นอกจากนี้ ยังมี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AlphaX โดยแต่ละธุรกิจในกลุ่มนี้วางเป้าหมายเติบโต ROEมากกว่า 20% ต่อปี ภายใน 3 ปี ต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น 

 

กลุ่มสอง "กลุ่มธุรกิจสายบู๊” เป็นธุรกิจใหม่ทั้งด้านการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเงินดิจิทัลแอสเซท และสร้างแฟลตฟอร์มต่างๆ เบื้องต้นจะเน้นที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับ SCBX ในอนาคตแทนรายได้จากธุรกิจเดิมที่กำลังลดลง 

“ธุรกิจกลุ่มนี้จะเห็นการโตชัดเจนในปีที่ 4 เป็นต้นไป อาจจะไม่ใช่การโตในแง่กำไรเท่านั้น แต่จะเป็นการโตเชิงมูลค่าของธุรกิจ วางเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี เป็นโครงการแรก” 

 

รวมทั้งจะขยายเข้าสู่ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Business) ในระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่านทาง SCB 10X เริ่มต้นด้วยการประกาศความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาร่วมทุน ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล

ลุ้นวันนี้ ผู้ถือหุ้นชี้ชะตายานแม่ SCBX

ก่อนจะขยับจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน และ การตั้งบริษัทร่วมทุน “ทีป็อป อินคอร์ปเรชั่น” ดำเนินธุรกิจบริหารศิลปินและแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท โดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ถือหุ้น 60% และ SCB 10X ถือหุ้น 40%

 

ล่าสุด SCB ประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 17,850 ล้านบาท ซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ในสัดส่วน 51% เป็นการยืนยันวัตถุประสงค์สู่การเป็นยานแม่

logoline