ล่าสุดการจับ "เสี่ยโจ้" แล้วจำเป็นต้องปล่อยตัวไปสรุปคือ "ตำรวจ" จับ "เสี่ยโจ้" แล้วก็เป็น "ตำรวจ" ที่ทำให้ "เสี่ยโจ้" ลอยนวล
โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ว่า หมายจับประเทศไทยไม่ได้มีความหมายอะไรแท้จริงสำหรับคนมีเงิน เพราะถ้าตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในทุกระดับ "ไม่สั่ง" หรือ "ไม่ขวนขวาย" ให้ตามจับ หรือแม้กระทั่ง "รับส่วยสินบน" ก็ไม่มีใครทำอะไรได้
"ลองคิดดูว่า ถ้าตำรวจผู้ใหญ่รับสินบน จากผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียเอง จะสั่งให้ลูกน้องไปจับกุมมาทำไม เพราะถ้าจับได้ก็กลัวถูกเปิดโปง กลายเป็นเรื่องเข้าตัวอีก นี่คือปัญหา" เลขาธิการ สปยธ. กล่าว
ส่วนหลายๆ คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วตำรวจก็ไม่ทำความเห็นแย้ง หรือปล่อยขาดอายุความไปเลยนั้น มีความเป็นไปได้ว่าตำรวจอาจทำสำนวนแบบ "ไม่ตรงปก" คือ ทำสำนวนอ่อน แจ้งข้อหาเพี้ยน ทำให้คดีถูกตัดตอน
พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบายต่อว่า แม้จะสรุปเสนออัยการพร้อมความเห็นสั่งฟ้อง แต่ตำรวจก็รู้อยู่แล้วว่า พยานหลักฐานมีปัญหา ฟ้องไม่ได้ ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือต้องสั่งสอบเพิ่มเติม จากนั้นตำรวจก็ "ดองไว้" ไม่ต่างจากคดีบอส
ส่วนกระบวนการนำหมายจับเข้าสารบบ และสืบสวนจับกุมตามหมายจับนั้น ย้ำว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ เพราะหมายจับทุกหมาย ตำรวจเป็นผู้ขอจากศาล ยกเว้นหมายจับให้มารับโทษตามคำพิพากษาที่ศาลออกเอง เนื่องจากจำเลยหลบหนี
"ฉะนั้นเมื่อตำรวจรับหมายจับมาแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คือ สั่งการมอบหมายให้ฝ่ายสืบสวนของหน่วย ตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจ ระดับกองบังคับการ หรือระดับกองบัญชาการ ให้สืบหาที่อยู่และเข้าจับกุมตัว" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
ถ้ายังจับไม่ได้ ก็ต้องส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร ให้นำเข้าสู่กระบวนการ "ประกาศสืบจับ" ส่งไปทุกหน่วยทั่วประเทศเพื่อทราบและตามจับ
ฉะนั้นคดี "เสี่ยโจ้" ตำรวจที่รับหมายจับมาต้องมีหมายจับอยู่แล้วอย่างแน่นอน เว้นแต่มีใครนำไปซุกซ่อนไว้ หรือทำให้หายไป ทั้งๆ ที่ตำรวจมีหน้าที่ติดตามสืบจับ และรายงานผลให้ทราบทันทีที่จับได้ หรือรายงานความคืบหน้าทุกระยะจนกว่าจะจับกุมได้
"ผมขอเรียกร้องให้ศาลนำสำเนาหนังสือที่ศาลส่งให้ตำรวจมาแสดงต่อสื่อ เพื่อให้รู้ว่าหน่วยไหนรับไป และใครเป็นคนเซ็นรับ" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว