svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมควบคุมโรค ชู 5 ประเด็น รณรงค์ "วันเบาหวานโลก"

12 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค รณรงค์วันเบาหวานโลก ปี 2564 ในหัวข้อ “ACCESS TO DIABETES CARE : การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร” พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ที่ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ

12 พฤศจิกายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันเบาหวานโลก ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี และในปีนี้สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดประเด็นรณรงค์สำหรับปี 2564-2566 คือ ACCESS TO DIABETES CARE การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร ซึ่งในปีนี้จะเป็นการรณรงค์ต่อเนื่องไปอีก 2 ปี

โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก กรมควบคุมโรค จึงใช้โอกาสในวันเบาหวานโลก เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชน ตระหนักถึงโรคเบาหวาน หนทางในการป้องกันในประชาชน ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง และดูแลผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี 

กรมควบคุมโรค ชู 5 ประเด็น รณรงค์ "วันเบาหวานโลก"

สถานการณ์โรคเบาหวานทั่วโลกมีผู้ป่วยจำนวน 463 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2588 จะมีผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 629 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในระบบทะเบียน 3.2 ล้านคน ของกระทรวงสาธารณสุข 

 

ก่อให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาด้านสาธารณสุขอย่างมหาศาล เฉพาะเบาหวานเพียงโรคเดียวทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และหากรวมอีก 3 โรค คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณในการรักษารวมกันสูงถึง 302,367 ล้านบาทต่อปี 

กรมควบคุมโรค ชู 5 ประเด็น รณรงค์ "วันเบาหวานโลก"

โรคเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ในกลุ่มโรค NCDs อีกมากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต ฯลฯ กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงการดูแลรักษาโรคเบาหวานที่ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศให้ได้รับการเข้าถึง 5 ประเด็น ดังนี้ 

  1. การเข้าถึงอินซูลิน เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการของโรคเบาหวานที่รุนแรงขึ้น 
  2. การเข้าถึงยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างทั่วถึง
  3. การเข้าถึงการติดตามผลการดูแลด้วยตนเอง ผ่านแอพพลิเคชั่นสมุดสุขภาพประชาชน (H4U by MOPH) เพื่อดูแลและจัดการตนเองให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
  4. การเข้าถึงความรู้ และการดูแลทางด้านจิตใจ เพื่อควบคุมโรคเบาหวานทั้งบุคคล ครัวเรือน และชุมชน 
  5. การเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพและสถานที่ออกกำลังกายที่ปลอดภัย เพราะทั้งสองอย่างเป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลและป้องกันโรคเบาหวาน


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงเป็นแผลง่ายหายยาก ชาปลายมือปลายเท้า  

 

สำหรับการป้องกันโรคเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม  
  2. ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง  
  3. ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน  
  4. ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี หากอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี 

กรมควบคุมโรค ชู 5 ประเด็น รณรงค์ "วันเบาหวานโลก"  

logoline