svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สพ.รฟ.ออกแถลงการณ์จี้เอกชนจ่ายค่าสัญญาแอร์พอร์ตเรลลิงก์

27 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมาพันธ์คนงานรถไฟ"ออกแถลงการณ์เอกชนจ่ายค่าสัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตาม ก่อนเข้าดำเนินการ ชี้ไม่เป็นธรรมต่อ รฟท. หวั่นท้ายสุดต้องมาแบกรับหนี้

27 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ) ได้ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีการเลื่อนระยะเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 นับเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เปิดทำเนียบรัฐบาลจัดพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด

 

หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CPH) ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด โดยภายใต้หลักการของโครงการฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขอบเขตโครงการฯ มูลค่าการลงทุนในโครงการ 224,544 ล้านบาท เปิดให้เอกชนร่วมทุน (Public Private Partnership : PPP) แบบ Net Cost สัมปทาน 50 ปี ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี และบริหารโครงการ 45 ปี โดยนับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ จนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ซึ่งบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้สิทธิประโยชน์ของโครงการ ดังนี้

 

สพ.รฟ.ออกแถลงการณ์จี้เอกชนจ่ายค่าสัญญาแอร์พอร์ตเรลลิงก์

 

 

 

 

1.ได้ร่วมทุน PPP Net Cost (Public Private Partnership : PPP) โดยรัฐร่วมทุนเอกชนเป็นเวลา 50 ปี

 

2.ภาครัฐลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน 3,570.29 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน รวมเป็นเงินประมาณ 122,996.04 ล้านบาท

 

3.กรอบวงเงินไม่เกิน 119,425.57 ล้านบาท ให้เอกชนออกไปก่อน รัฐจะทยอยจ่ายคืนให้ภายหลังที่เริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบ แล้วแบ่งจ่ายเป็นรายปี ระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี

 

4.รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 22,558.06 ล้านบาท

 

5.ได้สิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนับสนุนโครงการเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูง ประกอบด้วย ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และที่ดินศรีราชา 25 ไร่

 

6.ได้สิทธิบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี 15 สถานี หรือขยายพื้นที่ (โครงการทั้งหมด 15 สถานี ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีรถไฟภายในเมือง ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีพญาไท สถานีราชปรารภ สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง สถานีสุวรรณภูมิ และประกอบด้วยสถานีที่อยู่ระหว่างเมือง ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งอาคารและสถานที่จอดรถและทีจอดรถของสถานี)

 

สพ.รฟ.ออกแถลงการณ์จี้เอกชนจ่ายค่าสัญญาแอร์พอร์ตเรลลิงก์

 

ผลประโยชน์ตอบแทนที่ รฟท.จะได้รับ

 

 

1.มีสิทธิได้รับรายได้บางส่วน (Revenue Sharing)

 

2.ค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 10,671,090,000 บาท (หนึ่งหมื่นหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านเก้าหมื่นบาท) โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระค่าสิทธิดังกล่าวภายในวันที่ระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุน มีผลบังคับใช้

 

3.รฟท.จะได้รับค่าเช่าที่ดินในส่วนที่เป็นพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน 150 ไร่)

 

วันที่ 24 ต.ค. 2564 เป็นวันครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันเซ็นสัญญาลงนามร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ซึ่งบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเดิมคือกลุ่ม ซี.พี. ต้องชำระค่าใช้สิทธิให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย วงเงินตามสัญญา 10,671.09 ล้านบาท แต่ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 ที่มีนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด - 19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตาม มติ กพอ. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564

 

พร้อมทั้งเห็นชอบการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง รฟท. อีอีซี และ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ซึ่งกำหนดลงนามในวันที่ 20 ต.ค. 2564 เพื่อให้มีผลก่อนวันที่ 24 ต.ค. 2564 โดยที่การรถไฟฯ ตกลงเลื่อนการจ่ายค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ออกไปอีก 3 เดือน พร้อมเร่งเจรจาเงื่อนไขแบ่งชำระ และแก้ไขสัญญาร่วมทุนในการโอนสิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด โดย MOU มีระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ

 

สพ.รฟ.ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ MOU ในการเลื่อนการจ่ายค่าให้สิทธิบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมทุนในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ออกไปอีก 3 เดือน พร้อมเงื่อนไขการแบ่งชำระค่าในการโอนสิทธิ์ในการเดินรถ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับการรถไฟฯ

 

โดยเงื่อนไขเดิมที่กำหนดใน TOR ก่อนการประมูลโครงการ และตามสัญญาร่วมลงทุนฯ กำหนดให้บริษัทคู่สัญญาต้องชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้ครบในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้  ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นเงินจำนวนเงิน 10,671,090,000 บาท (หนึ่งหมื่นหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านเก้าหมื่นบาท) ให้แก่การรถไฟฯ ตามสัญญา จึงจะมีสิทธิเข้าไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ โดยมีประเด็นตั้งข้อสังเกต ดังนี้

 

สพ.รฟ.ออกแถลงการณ์จี้เอกชนจ่ายค่าสัญญาแอร์พอร์ตเรลลิงก์

 

ข้อสังเกตที่ 1 บริษัทคู่สัญญามีความพร้อมทางด้านเงินทุนอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีการประมูลโครงการมีการพิจารณารายละเอียดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอของโครงการ รวมถึงพิจารณารายชื่อกลุ่มผู้ประกอบการร่วมค้าแล้ว ล้วนเป็นผู้ประกอบกิจการธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ และมีผลงานการก่อสร้างมากกว่าหลักแสนล้านบาท ย่อมมีความพร้อมในการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา

 

ข้อสังเกตที่ 2 การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยที่การรถไฟฯตกลงเลื่อนการจ่ายค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ออกไปอีก 3 เดือน พร้อมเร่งเจรจาเงื่อนไขแบ่งชำระและแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ในการโอนสิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญาร่วมทุนฯ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทคู่สัญญา ในการได้สิทธิเข้ามาเดินรถไฟฟ้าก่อนการชำระเงินให้ครบตามสัญญา โดยทำให้การรถไฟฯเสียเปรียบ และเสียโอกาสในการได้รับเงินค่าให้สิทธิไปใช้ประโยชน์ด้วยหรือไม่

 

ข้อสังเกตที่ 3 หาก รฟท. ได้รับเงินค่าให้สิทธิดังกล่าว รฟท. จะมีหนี้ลดลงทันที พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระทุกปีก็จะลดลงตามไปด้วย และก่อนหน้านี้ยังเคยได้รับทราบข้อมูลว่า รัฐจะเป็นผู้รับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนที่เหลือ จำนวน 22,558.06 ล้านบาท แทนการรถไฟ ฯ หรือท้ายที่สุด รฟท. จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สินนี้เองทั้งหมด

 

สพ.รฟ.ยืนยันในเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้นที่เสนอให้รัฐดำเนินโครงการเอง เพื่อตัดทอนปัญหาทั้งปวง ด้วยการใช้งบประมาณไม่มากสร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนมากกว่า ราคาค่าโดยสาร ค่าขนส่ง อยู่ในภาวะที่คนทั่วไปในฐานะเจ้าของภาษี ผ่านรัฐที่ร่วมจ่ายในโครงการสามารถเข้าถึงบริการได้ เมื่อเสียงของประชาชนไม่ดังพอ และสัญญาก็ได้ลงนามไปแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและเรียกร้องให้ประชาชาชน องค์กร กลุ่ม เครือข่าย สื่อมวลชน นักการเมือง ที่ยังยืนหยัดศรัทธาในสิทธิประชาชน ต้องร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบดังที่กล่าวมา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชนทั้งในวันนี้และเพื่อลูกหลานเราในวันข้างหน้าต่อไป

 

 

 

logoline