svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

“ชายเป็นใหญ่” แนวคิดชีวิต(ครอบครัว)บิดเบี้ยวสังคมไทย

21 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แนวคิดที่ว่า “ชายเป็นใหญ่” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ชายหลายคน มักใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาภายในครอบครัว กลายเป็นข่าวฮือฮาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดนี้ อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกเท่าใดนัก โดยเฉพาะในการดำเนินชีวิตครอบครัว

21 ตุลาคม 2564 สืบเนื่องจากเหตุสลด ด.ช. เอ เด็กชายวัย 8 ขวบ ถูกนายวิรัช "พ่อเลี้ยง" ใช้สายเคเบิ้ลมัดมือ โยงไว้กับขื่อบ้าน แล้วเฆี่ยนตีด้วยสายไฟ จนเด็กหมดสติแล้วเสียชีวิต หลังพาไปส่งโรงพยาบาล 

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง คุณธนวดี ท่าจีน เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” เพราะผู้ชายมักจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาภายในครอบครัว เช่น กระทำต่อภรรยาตัวเองจนนำมาสู่ความรุนแรงต่อตัวเด็ก หรือลูกเลี้ยง ซึ่งครอบครัวกลุ่มเสี่ยงในลักษณะนี้มีให้เห็นเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบๆปีแล้ว แต่ไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

“ชายเป็นใหญ่” แนวคิดชีวิต(ครอบครัว)บิดเบี้ยวสังคมไทย

คุณธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง

 

จากการเก็บสถิติจากผู้ขอคำแนะนำปรึกษาขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนกันยายน 2564 พบว่า เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากถึง 297 ครั้ง โดยแบ่งออกเป็นผู้ที่มาขอคำปรึกษา ภาคเหนือ 33 ราย ภาคกลาง 63 ราย ภาคใต้ 2 ราย ภาคอีสาน 80 ราย และกรุงเทพมหานคร 113 ราย 

 

สำหรับ เหตุความรุนแรงที่มูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับการประสานจากผู้ขอคำแนะนำและปรึกษานั้น เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างตัวสามีภรรยา รวมถึงความรุนแรงที่ส่งผลกระทบไปถึงเด็ก โดยในจำนวนทั้งหมดที่เกิดขึ้น พบว่า มีกรณีที่พ่อเลี้ยง พ่อแท้ๆ ทำร้ายลูกตัวเองและลูกเลี้ยง จำนวน 4 ราย รวมถึงกรณีของเด็กชายวัย 8 ขวบด้วย 

“ชายเป็นใหญ่” แนวคิดชีวิต(ครอบครัว)บิดเบี้ยวสังคมไทย

แม่ เด็กชายวัย 8 ขวบ

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง บอกอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำไมคุณแม่ของเด็กถึงไม่ทำการปกป้องลูกของตัวเอง หรือทำไมไม่ต่อสู้กับพฤติกรรมความรุนแรงจากตัวผู้เป็นสามี จริงๆ เรื่องนี้ ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า สาเหตุแท้จริงที่คุณแม่ของเด็กไม่ปกป้องลูก มาจากปมในอดีตหรือไม่

 

เพราะการที่แม่เห็นลูกตัวเองก็สามารถทำให้เจ็บป่วยทางจิตใจอยู่แล้ว แต่อาจจะมีความหวาดกลัว เช่น ก่อนหน้าที่จะมาใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายคนนี้ เขาอาจจะเคยมีครอบครัวที่ถูกอดีตสามีกระทำความรุนแรงมาก่อน หรือมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ตัวของคุณแม่ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

ฉะนั้น ควรที่จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุเรื่องนี้ด้วย ไม่ควรไปตัดสินก่อนที่จะทราบถึงสาเหตุจริงๆ 

 

นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อนหญิง ยังพบข้อมูลอีกว่า มีผู้หญิงที่มีลักษณะแบบเดียวกันเป็นจำนวนมา ซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้หญิง “ขาดทักษะการปกป้องตัวเองและลูก” จึงทำให้เรื่องนี้ขาดหายไปในตัวของผู้หญิงเอง ประกอบกับที่ผ่านมาเคยเจอแต่คู่ชีวิตที่ใช้ความรุนแรงกับตัวเองและลูกมาโดยตลอด 

 

คุณธนวดี บอกอีกว่า ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเพื่อนหญิง เคยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานด้านสหวิชาชีพ ร่วมกันหาข้อมูลและทำฐานระบบให้กับกลุ่มครอบครัวเปราะบางเหล่านี้ เพื่อปกป้องพวกเขาและสามารถทราบความเคลื่อนไหว ซึ่งจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้ทันที 

“ชายเป็นใหญ่” แนวคิดชีวิต(ครอบครัว)บิดเบี้ยวสังคมไทย

ด้านนายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า จากกรณีความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้เด็กชายวัย 8 ขวบต้องเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า มีครอบครัวที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในลักษณะที่ผู้หญิงมีลูกติด และไปเริ่มต้นชีวิตคู่ใหม่กับผู้ชาย จะเป็นรูปแบบครอบครัวที่เกิดเหตุความรุนแรงเยอะมาก 

“ชายเป็นใหญ่” แนวคิดชีวิต(ครอบครัว)บิดเบี้ยวสังคมไทย

นายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล


โดยต้นตอของปัญหาที่สำคัญ ก็คือ ตัวของผู้ชาย ที่มักจะใช้อำนาจที่อาจจะถูกปลูกฝังมาที่เรียกว่า “ชายเป็นใหญ่” ซึ่งตัวผู้หญิงที่มีลูกผู้ชายติดมาด้วย มักจะเกิดกรณีในลักษณะนี้ขึ้นบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่เด็กจะไม่เสียชีวิต ส่วนกรณีที่ผู้หญิงมีลูกติดเป็นผู้หญิง ก็มักจะเกิดกรณีที่พ่อเลี้ยงกระทำชำเราลูกเลี้ยงให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกอีกว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายที่อยู่ในสถานะพ่อเลี้ยง เลือกที่จะก่อเหตุความรุนแรงขึ้น มาจากกรณีที่ตัวเองมองว่า เด็กไม่ใช่ลูกของตัวเอง และอาจจะเป็นการไม่เข้าใจว่า เด็กแต่ละคนมีนิสัยใจคออย่างไร จึงทำให้ใช้ความรุนแรงเข้ามาควบคุมและแก้ปัญหาแทน

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่มีสิ่งเร้ามาจากการใช้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการก่อความรุนแรงอีกด้วย

logoline