svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เครือข่ายป้องกันกัดเซาะยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

19 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้อง 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

19 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางหลังใหม่ จังหวัดสงขลา เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมี นายทวีศักดิ์ สุทธินันท์ นิติกรชำนาญการพิเศษ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เป็นผู้รับหนังสือแทน

เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือเรียกร้อง 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

การเดินทางมายื่นหนังสือครั้งนี้ของเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา โดยเรียกร้องให้มีการนำเอากำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี 

 

โดยมี 7 ข้อเรียกร้องสำคัญ ดังนี้
1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง 

เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือเรียกร้อง 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

2. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

3.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไป อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม 

4. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง 

 

5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

เครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือเรียกร้อง 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

6. คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่ง ต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

 

7. รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

 

ทั้ง 7 ข้อเรียกร้องนี้ เป็นทางออกเพื่อการหยุดยั้งวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สภาประชาชนภาคใต้ และสภาองค์กรชุมชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับร่วมกันหารือ และพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

เครือข่ายป้องกันกัดเซาะยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ แก้ปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน

logoline