svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

18 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ ก.ล.ต. พัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ”ร่วมกับภาคประชาชนในป่าชุมชน 4 จังหวัดนำร่อง ผลิตคาร์บอนเครดิต พร้อมขยายงาน 3 แสนไร่ทั่วประเทศ

18 ตุลาคม 2564 นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์  ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนปฏิบัติการพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงโครงการต้นแบบ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ผ่านกลไกการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจาก ก.ล.ต. กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการผสานงานพัฒนาชนบทกับการรักษาป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

ทว่าโครงการนี้ดำเนินงานมาแล้ว 15 เดือนร่วมกับชุมชนที่รักษาป่า 16 แห่งของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวมกว่า 19,611 ไร่  มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 9,166 คน และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเกิดผลดีต่อชุมชน ภาคเอกชน และประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมชุมชนที่ดูแลป่าภายใต้ พ.ร.บ. ป่าชุมชน 2562 ให้มีอาชีพทางเลือกใหม่ และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงจากการรักษาป่าให้สมบูรณ์ และคาดว่าจะสามารถผลิตคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนทั้ง 16 แห่ง รวม 392,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

ทั้งนี้ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ปีละกว่า 300 ล้านตัน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

โดยป่าชุมชนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นอิสระ

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

นายสมิทธิ อธิบายว่า ชุมชนเหล่านี้จะได้รับความรู้ในการดูแลป่าเพื่อประเมินเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตไว้แลกเปลี่ยนในอนาคต รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและริเริ่มขึ้น ทำให้การดูแลป่าช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ด้วย ส่วนภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมก็มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพคน สนับสนุนให้ชุมชนรักษาพื้นที่ป่า และได้คาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

สำหรับโครงการต้นแบบในป่าชุมชนทั้ง 4 จังหวัดได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน 7 หน่วยงาน  รวมเป็นวงเงินประมาณ 43 ล้านบาท  สำหรับระยะเวลา 6 ปี เพื่อวางรากฐานให้กับชุมชน โดยโครงการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไปใช้ในการสำรวจพื้นที่ทางภูมิสารสนเทศ (GIS) และภาคสนาม วางแปลงตัวอย่าง T-VER เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิต จัดอบรมให้ชุมชน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับการจัดตั้งกองทุนดูแลป่าและกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต  ปัจจุบันชุมชนได้รวมกลุ่มอาชีพใหม่ขึ้นแล้ว 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มผลิตภาชนะจากใบไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และกลุ่มตลาดกลางสินค้าชุมชน

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

ทั้งนี้ จากที่ประชาคมโลกเริ่มกำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นกติกาการค้าของโลก จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีก 10 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงขยายโครงการต้นแบบสู่การดำเนินงานอย่างจริงจัง เข้าร่วมกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ประมาณ 32,500 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ ระหว่างปี 2564 – 2565 และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 150,000 ไร่ในปี 2566 ทั้งยังประเมินว่าป่าชุมชนดังกล่าวสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและคิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 2.8 ล้านตัน และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่า 840 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี 

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

น.ส.สลักจิต มั่นธรรมรักษา ประธานสายบริหารงานพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  โครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” มีเป้าหมายร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางระบบการวัดประเมินและจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน และสนับสนุนชุมชนให้ดูแลป่า ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ทันที โดยมีกฎหมายรับรองการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนแล้ว (พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562) 

ทั้งมีแรงจูงใจที่เอกชนสามารถนำงบประมาณสนับสนุนโครงการไปลดหย่อนภาษีได้ โดยถือเป็นการเตรียมปริมาณคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ให้เพียงพอสำหรับอนาคตเมื่อมีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ และจะส่งผลให้บริษัทเอกชนต่างๆ ต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย 

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

นอกจากนี้ ที่สำคัญ โครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างยั่งยืน เช่น การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน บรรเทาผลกระทบจากการอพยพกลับถิ่นฐานของแรงงานหลังสถานการณ์โควิด19 บรรเทาภัยแล้ง สร้างความมั่นคงทางอาหาร และแก้ไขปัญหา PM 2.5  เป็นต้น 

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนดูแลรักษาป่า พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนการวางระบบวัดประเมินการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (คาร์บอนเครดิต) ในพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน เป็นต้นแบบในการขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน 6.3 ล้านไร่เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตของภาคเอกชนในอนาคต 

เปิดโมเดลการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ป่าชุมชน

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย จะเป็นป่าชุมชนนำร่องระยะที่ 1 ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 16 ป่าชุมชน พื้นที่ป่ารวม 19,611 ไร่ โดยมีชาวบ้านได้รับประโยชน์จำนวน 9,166 คน ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่โครงการกำหนด  คาดว่างบประมาณที่จะใช้ทั้งหมด รวม 43,144,200 บาท โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัทเอกชนต่างๆ แสดงความประสงค์ที่จะสนับสนุนโครงการฯ แล้วเป็นจำนวน 41,144,000 บาท

logoline