svasdssvasds
เนชั่นทีวี

พระราชสำนัก

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

12 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ถ้ามีคนถามว่าจบมาจากโรงเรียนไหน จงบอกเขาเถิดว่า มาจากโรงเรียนบ้านนอกเล็กๆ ที่ชื่อ วังไกลกังวล" พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ติดไว้เตือนใจนักเรียนทุกรุ่น ณ โรงเรียนวังไกลกังวล

“แพร-กาณต์จีรา ภักดี” เป็นนักเรียนจากโรงเรียนบ้านนอกเล็กๆ ที่ชื่อ “วังไกลกังวล” และมี "พระราชาเป็นครู" นับตั้งแต่ศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในพ.ศ. 2543 จวบจนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6

 

โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเพียงถนนเล็กๆ คั่นระหว่าง “วังไกลกังวล” พระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ รัชกาล ที่ 9 ณ เวลานั้น 

 

ถนนเส้นเล็กๆ เส้นนี้เองที่เด็กหญิงกาณต์จีราใช้เดินทางไปโรงเรียนทุกวัน ทว่าเดินทีไรก็ต้องชะเง้อคอยาวเป็นยีราฟทุกครั้งไป เพื่อหวังจะได้เห็นในหลวง รัชกาลที่ 9 หากแต่เด็กน้อยก็มิได้สมหวัง

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

 

มี “พระราชาเป็นครู” ความทรงจำของ กาณต์จีรา ภักดี

กาณต์จีรา ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล ตามรอยพี่ชาย และพี่สาว ความตื่นเต้น ณ เวลานั้น นอกจากจะได้เรียนในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว ยังตื่นเต้นกับการเป็นนักเรียนต้นแบบ เพราะโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นโรงเรียนต้นทาง ซึ่งได้ถ่ายถอดการเรียนการสอนไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาที่ขาดแคลนครู อยู่ในถิ่นทุรกันดาร อีกหลายร้อยโรงเรียน

 

“ช่วงแรกๆ เกร็งมากค่ะ วางไม้วางมือไม่ถูก เพราะมีกล้องตั้งจับมาที่นักเรียนทั้งห้อง ใจเราก็พะวงทั้งฟังคุณครูสอน ตาจ้องตรงไปที่ครู แต่ก็แอบมีเหล่ๆ ดูกล้อง ผ่านไปสักพักก็ชินค่ะ กลายเป็นสิ่งปกติ เรียนถามตอบปกติค่ะ เหมือนการถ่ายทอดสด ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็เป็นเหมือนการเรียนผ่านออนไลน์”

 

หลายคนมักคิดว่าเด็กนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลจะต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ หากแต่กาณต์จีราเล่าย้อนวันวานว่า “มีความดื้อซนเหมือนเด็กๆ ทั่วไปเลยค่ะ แกล้งเพื่อนก็มี เราวิ่งเล่นกันปกติ แต่ที่พิเศษคือเราได้เรียนวิชาพละ ได้ออกกำลังกายที่สวนในวังไกลกังวลค่ะ”

 

กาณต์จีรา ได้มีโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อถูกรับเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียน ทำรายการศึกษาทัศน์ เสมือนรายวิชานอกห้องเรียน เพื่อบันทึกเทปนำไปเปิดสอนยังโรงเรียนอื่นๆ

 

“รายการศึกษาทัศน์” เป็นสารคดีเพื่อการศึกษา ตามพระราชประสงค์ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9  รูปแบบรายการเป็นการพานักเรียนไปศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้จากประสบการณ์จริง

 

“ตอนนั้นพี่ๆ ทีมงาน ให้โจทย์มาว่า พระองค์ทรงอยากให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยตัวเอง เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เรียนรู้วัฒนธรรม ชุมชนต่างๆ โครงการในพระราชดำริต่างๆ ตอนนั้นแพรเป็นรุ่นแรกเลย  เทปแรกที่เราถ่ายทำ ชื่อว่า น้ำพระทัยจากในหลวง เป็นตอนเกี่ยวกับฝนหลวง สนุกมากค่ะ ถ่ายทำกันทุกวันหยุด”

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

เมื่อเลื่อนชั้นขึ้นมัธยมศึกษาปีที่  2 ในพ.ศ. 2544 วันที่ประทับในความทรงจำก็มาถึง

“ก่อนเลิกเรียนพี่ทีมงานมาบอกว่า พรุ่งนี้เราจะถ่ายเทปเกี่ยวกับดินนะ  ชื่อ โครงการอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ เขาเต่า” 

และคำพูดต่อมาของพี่ทีมงาน ที่ทำเอาหัวใจของกาณต์จีราเต้นรัวไม่เป็นจังหวะ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเป็นผู้บรรยาย เสมือนครูสอนภาคสนาม  

 

“เทปแรกตื่นเต้นมากค่ะ  ถามตามสคริปต์อย่างเดียวกลัวผิด  

มีครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงถามนักเรียนว่า

รู้ไหมว่า ฝ.ล. (ชี้ไปที่กระเป๋าเสื้อของข้าราชบริพาร) ย่อมาจากอะไร 

พวกเราตอบกันอย่างมั่นใจพร้อมกันว่า ฝนหลวงเพคะ

พระองค์ก็ตรัสว่า "ย่อมาจากฝูงลิง" เราก็ได้อมยิ้ม และก็เกร็งน้อยลง พระองค์คงทรงเห็นว่าเด็กนักเรียนตื่นเต้น

 

และพวกเราก็ตั้งใจเรียนมาก ก้มหน้าก้มตาจดอย่างเดียว จนก่อนพระองค์ท่านจะเสด็จฯ กลับ ท่านก็บอกว่า ที่เห็นจดๆ ต้องจำ ไม่ใช่ไม่จดแต่ไม่จำไม่เกิดประโยชน์ ให้ทำความเข้าใจที่เราจดด้วย” นับเป็นคำสอนของพระราชาที่กาณต์จีราจำมิมีวันลืม"

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

กาณต์จีรารื้อความทรงจำที่เสมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี่เอง ได้อย่างแม่นยำ “พระองค์ทรงติดไวเลสส์ด้วย พระองค์ทรงอธิบายเรื่องดินแต่ละชั้น ว่ามีแร่ธาตุอะไร ดินที่เสียต้องปรับปรุงอย่างไร มีสื่อการเรียนการสอนพร้อมอธิบายให้เราเห็นภาพ

 

เวลาที่ท่านเสด็จ แต่ละครั้งก็จะทรงงานด้วยค่ะ มีแผนที่ และกล้องถ่ายรูปมาด้วยทุกครั้ง ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะถวายรายงานเรื่องต่างๆ ในพื้นที่  การเสด็จบางครั้งกินเวลาหลายชั่วโมง บางทีอากาศร้อนก็มีค่ะ ท่านไม่ทรงแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยเลย

 

มีบางช่วงที่พวกเราเด็กๆ ต้องใกล้พระองค์มาก ต้องคุกเข่าลงบนพื้นกรวดหินเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งปกติจะเจ็บ แต่วันนั้นเอาจริงคือลืมเรื่องเจ็บไปเลย เพราะว่ามัวแต่โฟกัสที่พระพักตร์ของพระองค์ จนเสด็จกลับเพิ่งจะมานึกได้ว่าเจ็บเข่านิดๆ ค่ะ”

 

นับจากนั้นกาณต์จีราได้มีโอกาสตามเสด็จอีกหลายเทป อย่างในปี 2544 ชื่อตอน “เรื่องของฝนหลวง”  ถ่ายทำที่สนามบินหัวหิน ความทรงจำจากเหตุการณ์ในเทปนี้ ต่อให้เล่าเป็นพันๆ ครั้ง ก็จะต้องเล่า เพราะเป็นเรื่องราวเล็กๆ หากยิ่งใหญ่มาก คือ ในเทปนี้กาณต์จีราได้เล่นเล่นดรายไอซ์ สนุกเพลินกับควันที่พวยพุ่ง หากแต่พี่ๆ ทีมงานได้บันทึกเทปไว้ และพระองค์ทอดพระเนตร

 

"ผ่านมาเกือบ 3 ปี ได้ตามเสด็จฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เรื่องฝนหลวง พระองค์ทรงจำได้ และบอกว่าเล่นดรายไอซ์อันตราย ซึ่งพี่ทีมงานเล่าว่า ทุกเทปจะส่งให้พระองค์ตรวจสอบ พระองค์เปรียบเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการ"

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

 

ในที่สุดเทปสุดท้ายก็มาถึง เมื่อนางสาวกาณต์จีรา ใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว ใน พ.ศ.2547  ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

 

“แพรทำรายการนี้มาตั้งแต่เทปแรก ตอนอยู่ม.1 จนถึง ม.6  ทำทุกวันเสาร์ ช่วงปิดเทอมก็ทำเยอะหน่อย มีโอกาสตามสเด็จไม่กี่ครั้ง หากแต่พระองค์จำหน้าเด็กในรายการได้ พี่ทีมงานเล่าให้ฟังว่า พระองค์ทอดพระเนตรทุกเทป เหมือนตรวจทานความเรียบร้อยก่อนออกอากาศ กำหนดชื่อ กำหนดเนื้อหาในรายการพระองค์ก็แนะนำ เสมือนเป็นโปรดิวเซอร์รายการ

 

ในเทปสุดท้ายของแพร โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ตามเสด็จด้วย ตอนนั้นอยู่ ม.6 แล้ว คิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายแน่ๆ

 

ขณะรอกราบส่งเสด็จ สมเด็จพระเทพฯ กราบทูลในหลวงว่า เด็กกลุ่มนี้ตามเสด็จตั้งแต่เด็กๆ บัดนี้กำลังจะจบ ม.6 ในหลวงก็ทรงมีพระอารมณ์ขันตรัสว่า นึกว่าจบไปนานแล้ว ถ้ามีตามเสด็จอีกให้ปลอมตัวเป็นนักเรียนมาใหม่ 

 

จากนั้นพระองค์เดินไปที่รถยนต์พระที่นั่งยกกล้องมา เรียกเด็กที่ตามเสด็จตั้งแต่เด็กจนจะจบ ม.6 มาถ่ายรูป ซึ่งวันนั้นมี 2 คน แพรกับเพื่อน ตอนนั้นเพิ่งเข้าใจว่าคนดีใจจนร้องไห้เป็นยังไง"  

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

 

ทำงานในมูลนิธิของพ่อหลวง

หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนวังไกลกังวล กาณต์จีราได้รับทุนพระราชทาน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนจบระดับปริญญาโท และเริ่มทำงานที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ทันทีหลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรี

 

“ในชีวิตหนึ่ง เป็นบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่ได้เห็นพระบารมีของพระองค์ใกล้ๆ ได้รับพระเมตตาของพระองค์ท่าน นักเรียนที่ได้ทุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ไม่จำเป็นต้องใช้ทุน แต่แพรเลือกสมัครมาทำงานที่นี้ 

 

แพรอยากตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับมาตั้งแต่เด็กๆ ทุกคนสามารถทำงาน ทำความดีในแบบของตัวเองได้ทุกที่ แต่แพรเลือกที่นี่ มีโอกาสได้อยู่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ที่พระองค์พระราชทานกำเนิด เพื่อพระราชทานความห่วงใยให้แก่ผู้ประสบภัย อย่างน้อยเราได้สานต่อพระราชปณิธานของพระองค์"

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

"สิ่งที่ยึดตามรอยพระองค์ท่านในเรื่องของการทำงาน ท่านทรงงานหนัก เวลาที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ แพรลงพื้นทีไปช่วยชาวบ้าน เวลาไปที่ไกลๆ เดินทางลำบาก เราเหนื่อย รู้สึกบางที่ที่ไปอันตรายจังเลย แต่สุดท้ายก็มีแรงใจกลับมาสู้เสมอ เพราะสิ่งที่เราทำพระองค์ท่านทรงทำมาหมด ทำมายากลำบากกว่าเราไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า

 

เวลาไปออกพื้นที่ประสบภัย เราเหมือนได้นำความห่วงใยของพระองค์ไปมอบให้ประชาชน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ถุงสีเขียวคือถุงยังชีพ พระราชทานเป็นกำลังใจจากพระราชา

 

มีเหตุการณ์น้ำท่วมตอนปี 2554 มีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีใครไปถึง น้ำท่วมมิดชั้นหนึ่ง เราแล่นเรือไปประกาศให้ชาวบ้านรู้ มี คุณยายเปิดหน้าต่างจากชั้น 2

 

แพรบอกคุณยายนำถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาให้ แล้วมีพระรูปให้ด้วย แพรจำความรู้สึกนั้นได้ คุณยายจับพระรูปยกมือไหว้ท่วมหัว เหมือนรอใครสักคนมาถึง ไม่มีหน่วยงานไหนมาถึง แต่ถุงจากพระราชามาถึง”

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

อีกหนี่งข้อคิดที่กาณต์จีรานำมาปรับใช้ในชีวิตและการทำงานอื่น อย่ามัวรีรอช่วยเหลือ เมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อน  “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จะเน้นเรื่องรวดเร็ว ไปให้กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาที่ประชาชนเดือดร้อน เรานำเข้าไปก่อน ทางราชการอื่นๆ ก็จะตามมา เราก็ยึดเป็นแนวทางการทำงาน ไปให้ความอบอุ่นใจ ให้กำลังใจ”

 

โดยน้อมนำพระราชดำรัส ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ส่วนกลางคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด ผู้มีจิตศรัทธานักเรียนทุนพระราชทานการศึกษาสงเคราะห์ และสื่อมวลชน วันพฤหัสบดีที่ 16  เมษายน 2524

 

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานานพอสมควร และได้มีผลงานที่ดี กล่าวคือทำให้สามารถที่จะสงเคราะห์ผู้ประสบภัยธรรมชาติโดยฉับพลัน เมื่อผู้ใดประสบภัยธรรมชาติแล้ว ย่อมมีความเดือดร้อนมาก

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

 

ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ : มีพระราชาเป็นครู

 

logoline