svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เตือนภัยช่วงหน้าฝน "แมงกะพรุนกล่อง" เพชฌฆาตจอมพ่นพิษแห่งท้องทะเล

10 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่มีใครคาดคิดว่า สัตว์ทะเลตัวเหมือนฟองน้ำที่เราพบเห็นกันบ่อยครั้งเวลาลงเล่นน้ำทะเล ชื่อ “แมงกะพรุนกล่อง” จะมีพิษร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย

10 ตุลาคม 2564 สำหรับในช่วงฤดูฝน "แมงกะพรุนกล่อง" หรือแมงกะพรุนพิษ จะพบมากบริเวณใกล้ชายหาดในช่วงหลังจากที่ฝนตกใหม่ๆ โดยเฉพาะบริเวณฝั่งอ่าวไทย โดยแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงและอาจทำให้ผู้ที่สัมผัสเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว คือ แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) ลำตัวเป็นทรงสี่เหลี่ยมโปร่งใสจนแทบมองไม่เห็น ที่มุมเหลี่ยมจะมีหนวดยื่นออกมา มี 2 ชนิด คือ ชนิดหนวดเส้นเดียวและชนิดมีหนวดหลายเส้นประมาณ 12-15 เส้น ที่สายหนวดจะมีกระเปาะพิษ แมงกะพรุนกล่อง 1 ตัว อาจมีกระเปาะพิษถึงล้านถุง เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกัสแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีหนวดหลายเส้น 

แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) สัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรง // ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปกติแล้วแมงกะพรุนกล่องสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยพบได้ทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย โดยพิษของแมงกะพรุนกล่องจะมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด หากได้รับพิษมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ภายใน 2-5 นาที และมีผลต่อระบบประสาท ทำให้หมดสติ อีกทั้งยังมีผลต่อผิวหนังทำให้เป็นรอยไหม้และเกิดแผลเป็น 

เตือนภัยช่วงหน้าฝน "แมงกะพรุนกล่อง" เพชฌฆาตจอมพ่นพิษแห่งท้องทะเล

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังระบุอีกด้วยว่า สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละหาดอาจไม่สามารถวางตาข่ายกั้นแมงกะพรุนได้หมด จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ Life guard หรือผู้ประกอบการ

 

ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์ของผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่อง ระหว่างปี 2542-2564 ว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง รวม 48 ราย โดยรายล่าสุดเป็นเด็กชายชาวต่างชาติ อายุ 9 ปี เสียชีวิตช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

เตือนภัยช่วงหน้าฝน "แมงกะพรุนกล่อง" เพชฌฆาตจอมพ่นพิษแห่งท้องทะเล

ขณะที่นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า หากสงสัยว่าอาจโดนแมงกะพรุนพิษ ขอให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ควรรีบนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำทะเล
  2. รีบร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 
  3. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และห้ามขัดถู บริเวณที่ถูกแมงกะพรุนกัด เพื่อป้องกันการได้รับพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหว กระทบกระเทือนหรือสัมผัสบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุนจะยิ่งกระตุ้นการยิงพิษ 
  4. รีบล้างพิษทันที โดยใช้น้ำส้มสายชูความเข้มข้น 4-6% ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป ราดที่บริเวณที่โดนกัด อย่างต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามราดด้วยน้ำจืด น้ำเปล่า หรือแอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชูจะหยุดยั้งไม่ให้กระเปาะพิษยิงเข็มพิษ ป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น
  5. หากผู้บาดเจ็บไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจก่อนราดน้ำส้มสายชู หากไม่หายใจ ให้ช่วยปฐมพยาบาลให้หายใจก่อนราดน้ำส้มสายชู และรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ข้อควรระวัง และเป็นข้อห้ามในการช่วยปฐมพยาบาลผู้ที่โดนพิษจากแมงกะพรุน คือ ห้ามขัดถูหรือขยี้บริเวณที่สัมผัสสายหนวดแมงกะพรุน ห้ามใช้น้ำจืด หรือเหล้าขาว หรือน้ำปัสสาวะ ราดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะกระตุ้นการยิงเข็มพิษ ทำให้พิษกระจายเพิ่มขึ้น เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น

เตือนภัยช่วงหน้าฝน "แมงกะพรุนกล่อง" เพชฌฆาตจอมพ่นพิษแห่งท้องทะเล

สำหรับการป้องกันภัยจากแมงกะพรุนกล่อง ก่อนลงเล่นน้ำทะเล ขอให้ประชาชนสังเกตที่บริเวณชายหาด หากพบว่ามีซากของแมงกะพรุนที่อยู่ตามชายหาด ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ หรือให้ลงเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น และให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยสวมเสื้อผ้ามิดชิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 

ที่มา :
-https://www.nationtv.tv/news/378836575
-https://www.springnews.co.th/news/816889
-https://www.dmcr.go.th/detailAll/6847/nws/16

logoline