svasdssvasds
เนชั่นทีวี

พระราชสำนัก

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

09 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เพียง 5 ปี ”สมาน ผ่านพรม” ได้ต่อยอดความรู้จากโครงการปรับปรุงดินตามศาสตร์พระราชา จากดินทราย...กลายเป็นแปลงผัก และปลูกพืชใดก็แตกยอดออกผลจนกลายเป็นต้นแบบ และเป็นขุมทรัพย์ที่สร้างรายได้เลี้ยงชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้

“ ความรู้นี่แหละ...ที่เอาชนะดินทรายได้

ไปเห็นอันไหนที่มันตรงใจ ให้รีบถาม รีบหาความรู้  ให้เร็วที่สุด

ถ้าเราไม่แสวงหาความรู้อะไรเลย ก็จะปลูกได้แต่แตงโม

แต่ผืนดินทรายที่ “บ้านฮูแตทูวอ” สามารถปลูกพืชผักได้ทั้งตลอดปี ”

พื้นดินตรงนี้เป็นดินทราย ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชใดๆทั้งสิ้น...โจทย์ยาก…ที่ไม่เพียงแต่เกษตรกร แต่นักวิชาการหลายๆคนอาจจะท้อ เพราะการจะปลูกพืชให้เจริญเติบโตบนพื้นดินทรายนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่สำหรับ “สมาน ผ่านพรม” ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ที่โชคชะตานำพาให้เขามาหยั่งรากลึก อยู่ที่ บ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส...ยิ่งยาก ยิ่งต้องเรียนรู้ 

 

...แม้จะเรียนจบแค่ ป.4 แต่ด้วยนิสัยรักการอ่าน และชอบการเรียนรู้ ยิ่งเจอโจทย์ยาก ยิ่งต้องมานะพยายาม “น้าสมาน” เริ่มต้นหาวิธีเอาชนะดินทราย ด้วยการเข้าไปสอบถามที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส...เกษตรกรตัวเล็กๆ ที่ลุยเดี่ยวเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่โดยไม่มีคำว่า “กลัว”

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ  : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ "จากดินทราย"...กลายเป็น"ขุมทรัพย์"

เมื่อ ยิ่งเรียน ก็ยิ่งรู้...จากดินทรายที่พอถึงฤดูร้อนถอด รองเท้าเดินแทบจะไม่ได้ แต่ภายในเวลาแค่ 5 ปี “น้าสมาน” สามารถสร้างปรากฏการณ์ “เปลี่ยนดินทราย ให้กลายเป็นขุมทรัพย์” ปรับปรุงดินตามศาสตร์พระราชา จนสามารถปลูกพืชผักที่มีคุณภาพได้ราคา

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

จนกลายเป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน "บ้านฮูแตทูวอ" ลุกขึ้นมาทำตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้น้ำจาก มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่เข้ามาทำโครงการในพื้นที่ยิ่งทำให้การปลูกพืชผักของชาวบ้าน"ฮูแตทูวอ" ได้ผลและขยายพื้นที่ออกไปอย่างรวดเร็ว...

 

ส่วนดินที่ใช้ปลูก น้าหมานบอกว่า ต้องเป็นดินที่โปร่ง สามารถระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี สูตรดินที่คิดค้นและใช้อยู่ทุกวันนี้ คือ ขุยมะพร้าวหมัก 3 ส่วน ดิน 1 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน และปูนขาวอีก 1 ส่วน

 

ปัจจุบันวิธีการปลูกผักบนโต๊ะแบบนี้ ได้รับความสนใจจากกรมวิชาการเกษตรเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาระบบและรูปแบบให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อรองรับการทำเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ แต่ปัญหาคือ เกษตรกรยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ กลัวว่าจะไม่ได้ผล

 

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

ทั้ง ๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ว่า การปลูกผักรอบหนึ่ง ๆ ในพื้นที่ 1 โต๊ะ ขนาด 1x4 เมตร สามารถสร้างรายได้ถึง 1,200 บาท และปีหนึ่ง ๆ สามารถปลูกได้ถึง 5 - 6 รอบ "ปัญหาคือเกษตรกรบางราย ยังไม่เปิดใจลองทำสิ่งใหม่" น้าหมานกล่าว

 

จากประสบการณ์น้าหมานพบว่า การส่งเสริมการปลูกผักนั้น ควรเป็นผักที่คนนิยมบริโภค เช่น ผักสลัด ต้นหอม ขึ้นฉ่าย หรือชนิดใดก็ตามที่มีตลาดรองรับกว้างขวาง แต่ต้องปลูกผักธรรมดา ๆ เหล่านั้น ให้เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

 

เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยคำนึงถึงการประหยัดเวลา ใช้ทรัพยากรที่น้อย และเกิดมูลค่าสูงสุด การทำผักอินทรีย์ คือหนึ่งในรูปแบบที่สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

...น้าหมาน เล่าต่อไปว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดำรัสว่า "ดินไม่ดีไม่เป็นไร ขอให้เป็นคนดี เพราะนั่นจะทำให้มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาต่อ" ด้วยพระราชดำรัสดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้ทุกวันนี้ น้าหมานดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม และพยายามทำให้ตัวเองมีคุณค่าที่สุด ทั้งคุณค่าต่อตัวเอง และคุณค่าต่อผู้อื่น

 

"เราไม่ดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตที่ไร้คุณค่า ทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี แต่ไม่ใช่ดีแค่พูด แต่ต้องปฏิบัติให้เห็นจริง"

 

​การปฏิบัติให้เห็นจริงดังว่า อย่างหนึ่งที่ยึดปฏิบัติมาตลอดก็คือ การรู้จักแบ่งปันต่อผู้อื่น ปัจจุบันน้าหมานได้รับการยอมรับจากหน่วยงานด้านการศึกษา และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เอาเป็นแบบอย่าง

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

"ทุกวันนี้เรายินดีจะถ่ายทอดความรู้ให้กับทุกคนที่สนใจ ถ่ายทอดให้ฟรี ๆ ไม่ทวงบุญคุณอะไรทั้งสิ้น ใครอยากรู้ อยากทำเป็น มาดู มาสอบถามได้เลย เราถ่ายทอดให้ทุกอย่าง ไม่กั๊ก ไม่ปิด หรือกลัวว่าคนอื่นจะทำได้ดีกว่า" น้าหมานยืนยัน

 

นอกจากการแบ่งปันให้กับผู้อื่นแล้ว การมีสติ การรู้จักความพอดี คือสิ่งที่น้าหมานยึดเป็นหลักปฏิบัติของชีวิต โดยเฉพาะความพอดีนั้น น้าหมานบอกว่าต้องคำนึงถึงให้มาก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำใหชีวิตยุ่งยากไปหมด

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

....สิ่งที่น้าหมานยังเป็นห่วงอยู่บ้าง คือ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสืบสานงานด้านการเกษตรจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งจะทำให้ศูนย์ "สวน & ไร่ เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านฮูแตทูวอ" ที่น้าหมานกับชาวบ้านช่วยสร้างกันไว้จะล้มหายตายจากไป น้าหมานบอกว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้รับการสืบทอด โดยคนรุ่นหลัง คือการทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าและมูลค่าของศูนย์แห่งนี้ให้ได้

 

"ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่าศูนย์ฯ มันมีคุณค่ายังไง และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้พวกเขาเห็นแนวทางการสร้างมูลค่าจากการเกษตรยังไง ถ้าเขาเห็นคุณค่าและเห็นว่าหากทำแบบนี้ก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย พวกเขาก็จะสืบทอดต่อสิ่งที่เราทำเอาไว้" น้าหมาน ทิ้งท้ายอย่างมีหวัง

 

ในหลวง ร ๙ ในความทรงจำ : “สมาน ผ่านพรม" ผู้ต่อยอดโครงการของพ่อ

 

เส้นทางเดินของ”น้าสมาน” จึงสมดั่งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการในพระราชดำริทั้งปวง “สิ่งใดที่ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต้องดำเนินการและขับเคลื่อนต่อไป”

 

สมาน ผ่านพรม 

"ปราชญ์ดิน ผู้เปลี่ยนดินทรายให้กลายเป็นขุมทรัพย์"

 

#ในหลวงในความทรงจำ  #ในหลวงในความทรงจำตอนที่1 

ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพ...จาก "มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ" 

 

 

logoline