svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สารคดี - กำแพงทะเลมีชีวิต บ้านหลังน้อยของสัตว์ทะเล

04 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ด้วยสภาพของริมทะเลที่เปลี่ยนไป เมื่อสภาพตามธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ทะลริมชายฝั่ง จึงเป็นที่มาของโครงการกำแพงทะเลมีชีวิต

จากจุดที่มองเห็นสะพานฮาร์เบอร์บริดจ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองซิดนีย์ ในออสเตรเลีย มาเรียนา เมเยอร์ ปินโต นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้หย่อนตัวลงไปในน้ำเพื่อสำรวจแผงแผ่นคอนกรีตที่เต็มไปด้วยลวดลายที่ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ของสาหร่ายเคลป์ กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลอื่น ๆ 

 

โครงการ "Living Seawalls"  หรือ " กำแพงทะเลมีชีวิต "  ได้ติดตั้งแผ่นคอนกรีตติดผนังที่ออกแบบมาโดยเฉพาะกว่า 1,000 แผ่นบนกำแพงทะเลที่มีอยู่ในซิดนีย์ เพื่อเลียนแบบระบบนิเวศชายฝั่งตามธรรมชาติ เช่น แอ่งหิน และป่าชายเลนที่มีซอกหลืบและรอยแยกมากมาย

 

ชายฝั่งธรรมชาติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของอ่าวซิดนีย์ได้ถูกเปลี่ยนโฉมไปด้วยโครงสร้างชายฝั่ง อย่างเช่นกำแพงทะเล และเสาเข็ม แต่พื้นผิวแบนราบพวกนี้ไม่สนับสนุนสิ่งมีชีวิตในทะเล เหมือนอย่างแผงคอนกรีตที่พริ้นต์ออกมาด้วยระบบ 3 มิติ

 

"เราได้เห็นสปีชีส์มากกว่า 90 ชนิด เข้ามาตั้งอาณานิคมบนแผงที่มีความหลากหลายเหล่านี้ และเราได้เห็นสปีชีส์บนแผงใน " กำแพงทะเลมีชีวิต "  มากกว่า 30 ถึง 40 % เมื่อเทียบกับส่วนที่ไม่ได้ปรับแต่งของกำแพงทะเล"  เมเยอร์ ปินโต อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) และหัวหน้าร่วมของโครงการ Living Seawalls  บอกขณะตรวจสอบแผงที่ติดตั้งที่ย่านชานเมืองบัลเมน ของซิดนีย์

 

"เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง และมันทำให้เรามั่นใจจริง ๆ ในการปรับขนาดสิ่งนี้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอื่น ๆ และโครงสร้างที่ประดิษฐ์ขึ้นอื่น ๆ"

สารคดี - กำแพงทะเลมีชีวิต บ้านหลังน้อยของสัตว์ทะเล
 

เธอบอกว่า มันใช้เวลาเพียงช่วงสั้น ๆ  แค่ไม่กี่เดือน เพื่อให้แผงเหล่านี้กลายเป็นอาณานิคมของสิ่งมีชีวิตในทะเล และด้วยสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองน้ำ เช่นหอยนางรมและเพรียง คุณภาพน้ำของที่นี่ก็ดีขึ้น

 

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง

 

"สิ่งหนึ่งที่เราเฝ้าติดตามในแผงเหล่านี้ก็คืออุณหภูมิ รอยแยก แอ่งหิน และสิ่งต่าง ๆ ที่จริงแล้วพวกมันให้ที่หลบร้อนสำหรับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ดังนั้น มันจึงสำคัญอย่างยิ่งเพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ที่นี่” 

สารคดี - กำแพงทะเลมีชีวิต บ้านหลังน้อยของสัตว์ทะเล

"กำแพงทะเลมีชีวิต" ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของซิดนีย์ (SIMS) ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์จาก UNSW และมหาวิทยาลัยแม็คควอรี มันได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งาน
อย่างน้อย 20 ปี

 

แผงซึ่งเป็นที่นิยมในออสเตรเลีย ถูกนำติดตั้งในเวลส์และสิงคโปร์ด้วย และมันเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายสำหรับรางวัล Earthshot Prize โดยมูลนิธิ Royal Foundation of the Duke and Duchess of Cambridge

 

เมเยอร์ ปินโดบอกว่าเธอหวังว่าโครงสร้างชายฝั่งทะเลที่สร้างขึ้นในอนาคต จะมีความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา พวกมันไม่เพียงแต่ออกแบบมาเพื่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธรรมชาติด้วย

 

“ ฉันโตมาในแถบมหาสมุทร มหาสมุทรเป็นสถานที่ที่ฉันมีความสุข ฉันจึงอยากให้ลูก ๆ ของฉันได้เพลิดเพลินกับมหาสมุทรแบบที่ฉันเติบโตขึ้นมา และด้วยเหตุนี้เราจึงต้องดูแลมันให้มากขึ้น”

สารคดี - กำแพงทะเลมีชีวิต บ้านหลังน้อยของสัตว์ทะเล

logoline