svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

29 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าใกล้จะครบ 8 ปี ตามบัญญัติที่เป็นเพดานสูงสุดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือยัง กำลังเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางและถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายชัดเจน และผู้ที่จะชี้ขาดได้มีเพียง "ศาลรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น

แต่ทุกฝ่ายรู้กันดีว่า การจะยื่นตีความได้ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่แค่สงสัยก็ส่งเรื่องไปถาม เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เคย "ตีกลับ" เรื่องลักษณะนี้ โดยให้เหตุผลว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ "ที่ปรึกษากฎหมาย" 

 

ฉะนั้นการจะยื่นตีความให้ศาลวินิจฉัยได้ จึงต้องเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ เสียก่อน ไม่ใช่คาดการณ์ จังหวะเวลาที่จะส่งศาลรัฐธรรนมนูญวินิจฉัยได้ คือ หลังเดือนส.ค.ปีหน้า ซึ่งก็คือกรอบเวลาที่มีปัญหาอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีแล้วหรือยัง

 

แนวทางและขั้นตอนนี้ "ฝ่ายค้าน" เองก็รู้ เพราะ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคไทยสร้างไทย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็โพสต์เฟซบุ๊กเอาไว้เอง

 

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

 

"ทางออกของเรื่องนี้จึงต้องอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามมาใช้...โดย ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 158 วรรคสี่ (กรณีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี) เมื่อยื่นคำร้องแล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ส่วน ส.ส. หรือ ส.ว. จะยื่นคำร้องได้ก็ต้องเริ่มจากวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มต้นที่มีข้อถกเถียงว่าการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่"

ก่อนหน้าที่นายวัฒนา โพสต์ประเด็นนี้ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์คล้ายๆกัน คือ มั่นใจว่า "สถานะนายกฯของบิ๊กตู่" จะหมดอายุเดือนสิงหาฯ ปีหน้า แต่ก็จะต้องมีพวกศรีธนญชัยตีความเข้าข้าง สุดท้ายต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และการจะยื่นศาลได้ นายกฯต้องดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีก่อน จึงจะมีปัญหาให้ศาลวินิจฉัย

 

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

 

เมื่อทุกฝ่ายรู้ตรงกันแบบนี้ แล้วทำไมจึงต้องออกมา "จุดพลุ" กันในช่วงนี้ เหตุผลคือ

 

1.เป็นการดิสเครดิต "นายกฯลุงตู่" ให้ขยับตัวแก้ปัญหาการเมืองยากขึ้น ปัญหาของนายกฯ มีอะไรบ้าง...

 

โดยปัญหาใหญ่ที่สุด คือ "ขาลอย" ไม่มีฐานเสียง ส.ส.สนับสนุนอยางชัดเจน สืบเนื่องจากปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ คนที่คุมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ภายในพรรค ไม่ใช่ฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็น "ผู้กองธรรมนัส" ที่เพิ่งถูกนายกฯปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ "บิ๊กป้อม" ไม่ได้ปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วย ทำให้ "มือ ส.ส.ในสภา" ที่จะสนับสนุนนายกฯมีปัญหา และวางใจไม่ได้เลย เนื่องจาก "ผู้กองธรรมนัส" เพิ่งมีข่าวเดินเกมโหวตล้มนายกฯในศึกซักฟอก จนโดนปลดจากตำแหน่ง

 

การที่นายกฯ "ขาลอย" ก็แย่อยู่แล้ว ล่าสุดเก้าอี้นายกฯยังเสี่ยง "ใกล้หมดอายุ" ลองคิดง่ายๆ เหมือนข้าราชการระดับสูง หรือ ผบ.เหล่าทัพ ใกล้เกษียณอายุ ช่วงนั้นจะเรียกว่าเป็นช่วง "เกียร์ว่าง" ของบรรดาข้าราชการ เพราะจะสั่งใครให้ทำอะไร ก็ไม่มีใครอยากทำให้ เนื่องจากใกล้หมดอำนาจ จุดนี้เองเมื่อนำมาเทียบกับปัญหาเก้าอี้นายกฯใกล้หมดอายุ ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา "ขาลอย" จะโหวตแต่ละที นายกฯต้องยอมตามเงื่อนไขทุกอย่าง 

 

 

 

2.ตั้งแต่วันนี้ ถึงเดือนสิงหาคมปีหน้า ลองสำรวจดูว่ามี "กับระเบิดการเมือง" เรื่องไหนรอนายกฯอยู่บ้าง

 

เริ่มจากสมัยประชุมที่จะกำลังเปิดในเดือนพ.ย. คือ สมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 2 ของปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ปีนี้ ถึงสิ้นเดือนก.พ.ปีหน้า สิ่งที่นายกฯต้องเจอ คือ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน การลงมติอนุมัติพระราชกำหนดโรคติดต่อ

 

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

 

และถ้ารัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มมาแก้ปัญหาโควิด ก็ต้องดันกฎหมายกู้เงินให้ผ่านสภาฯ ซึ่งสามเรื่องนี้ ต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ถ้า ส.ส.พลังประชารัฐเกียร์ว่าง หรือใครบางคนในพรรคอยากล้างแค้น ปัญหาชีวิตก็จะเกิดขึ้นกับนายกฯได้ทันที

 

หากมองเลยไปถึงสมัยประชุมต่อไป คือ สมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 1 ของปี 2565 เริ่มเดือนพ.ค. ถึงเดือนก.ย.ปีหน้า สิ่งที่นายกฯต้องเจอ คือ ศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจอีกรอบของฝ่ายค้าน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ถือเป็นงานใหญ่ 2 งาน ต้องใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คำถามเดียวกัน คือ ถ้านายกฯมีอนาคตไม่แน่นอน แล้วโดน "ลูบคม" จะเกิดอะไรขึ้น

 

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

 

3.จากสถานการณ์ "ขาลอย" และ "กับระเบิดทางการเมือง" ที่เสี่ยงต้องเผชิญ ปัญหาเก้าอี้นายกฯใกล้หมดอายุยังส่งผลไปถึงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เตรียมตั้งพรรคใหม่ ที่เรียกกันว่า "พรรคปลัดฉิ่ง" เพราะมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการจากเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็นคนออกหน้าเดินเกม

 

ข่าวการตั้งพรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ หากพรรคพลังประชารัฐไปไม่ไหว ซึ่งขณะนี้คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐตกต่ำอย่างหนักจากผลสำรวจของนิด้าโพล ขณะเดียวกันหากมีพรรคใหม่สำรอง ก็จะ "สร้างอำนาจต่อรอง" ของนายกฯกับพรรคพลังประชารัฐด้วย

 

แต่เมื่อเก้าอี้นายกฯใกล้หมดอายุ การจะไปตั้งพรรคใหม่จึงยากขึ้น เพราะไม่สามารถชู "ลุงตู่" เป็นผู้นำที่สร้างความหวังได้ เนื่องจากตัวเองยังไม่รู้จะมีหวังหรือไม่ จะได้เป็นนายกฯต่ออีกไหมหลังเดือนส.ค.ปี 65 สถานการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นายกฯ จะดึง ส.ส.บางกลุ่ม และกลุ่มทุนสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ให้ไปสนับสนุนพรรคใหม่ คือ "พรรคปลัดฉิ่ง"

 

สรุปก็คือ ช่วงเวลานับจากนี้จนถึงส.ค.ปีหน้า เป็นช่วงที่นายกฯ เหมือน "เสือลำบาก" อำนาจต่อรองลดลงจนเกือบจะถึงขั้น "ไร้อำนาจต่อรอง" การขยับทางการเมืองทำได้ยากขึ้น เช่น ถ้าจะยุบสภาฯ ก็เสี่ยงที่พลังประชารัฐ จะไม่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตอีกสมัย กรณีที่พรรคมองว่าชื่อ "บิ๊กตู่" ขายไม่ได้อีกแล้ว แต่ครั้นจะไปเปิดตัวตั้งพรรคใหม่ ก็เสี่ยงอีกว่าจะมีคนเอาด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกรอบเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งรอตีความอยู่

 

ปม"นายกฯ 8 ปี" เกม "คนกันเอง" ไล่บี้บิ๊กตู่?

 

กลเกมการเมืองเหล่านี้ ทำให้มองได้ว่าอาจไม่ได้มีเฉพาะ "ฝ่ายค้าน" กับ "ฝ่ายแค้น" ที่จุดประเด็นดังกล่าวขึ้นมา แต่ฝ่ายเดียวกันกับนายกฯลุงตู่ อาจสะกิดให้ฝ่ายตรงข้ามช่วย "จุดพลุ" เพื่อกระตุกขา เตะตัดขา หรืออาจจะถึงขั้น "ขุดหลุมฝัง" นายกฯเลยก็เป็นได้

   

logoline