svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

UN ออกรายงานรัฐประหารเมียนมาช้าไปหรือไม่

28 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สหประชาชาติออกรายงานล่าสุด ชี้ว่าการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นการทำลายประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จำคุก เข่นฆ่า ทรมาน ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่คำถามก็คือ "ช้าไปหรือไม่"

รายงานที่รวบรวมโดย "สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ" (OHCHR) จากการสัมภาษณ์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและพยานมากกว่า 70 คน และเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กันยายน ตรงกับการประชุมครั้งที่ 48 ของ "คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ" (UNHRC) ระหว่างวันที่ 13 กันยายน ถึงวันที่ 8 ตุลาคม ระบุว่า กองทัพเมียนมา กำลังนำประเทศเข้าสู่การล่มสลาย ทำลายเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุขและระบบคุ้มครองสังคม และยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่อาจถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วย

 

ภาพ : Reuters

 

 

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ควบคู่ไปกับการเผยแพร่รายงาน และเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติ รวมทั้ง 11 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ร่วมแรงร่วมใจสร้างความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์จะไม่วนเวียนอยู่เหนือการควบคุม ขณะที่สถานการณ์ใน เมียนมา ไม่มีวี่แววของความพยายามใดๆ จากกองทัพ ในการหยุดการละเมิดต่างๆ เหล่านี้ ปฏิบัติตามคำแนะนำก่อนหน้านี้ เพื่อจัดการให้มีการนิรโทษกรรมต่อผู้ที่ถูกจับกุม หรือปฏิรูปภาคความมั่นคง รวมทั้งปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ทำไว้กับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน

 

ภาพ : Reuters

กองทัพเมียนมา พยายามสร้างความชอบธรรม ในการทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยอ้างว่า โกงการเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 แต่ไม่เคยมีหลักฐานยืนยัน ขณะเดียวกันก็ปราบปรามนองเลือดต่อผู้ประท้วง ที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ระบุว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,121 คน และถูกจับไปคุมขังอีก 6,718 คน ซึ่งการที่ สหประชาชาติ เพิ่งออกรายงานมาในตอนนี้ ทำให้ถูกตั้งคำถามว่า "ช้าไปหรือไม่" เพราะในขณะที่รายงานฉบับนี้ออกมา เศรษฐกิจของเมียนมาล่มสลายไปแล้ว คนงานโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงต้องตกงานราว 200,000 คน ส่วนคนงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายตกงาน 400,000 คน เด็ก ๆ ถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจและดำเนินการผ่านศูนย์สอบสวนของทหาร และยังหลายคนถูกทรมานขณะถูกควบคุมตัว กองทัพยังใช้ยุทธศาสตร์ "four cuts" หรือการตัดหนทางไม่ให้ "ศัตรู" เข้าถึงเงินทุน, อาหาร, ข่าวกรองและระดมความรุนแรงทุกรูปแบบ ตั้งแต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนไปจนถึงการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาใช้ และ สหประชาชาติก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน 

 

ภาพ : Reuters

logoline