svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กระทรวงยุติธรรม เร่งพัฒนาระบบป้องกันทำผิดซ้ำ

27 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดสัมมนาพัฒนาระบบป้องกันทำผิดซ้ำ ราชบุรี เร่งผลักดันศูนย์ JSOC เพื่อความปลอดภัยของ ปชช. "ธนวัชร" ชวนคนพื้นที่ร่วมเป็นอาสาคุมประพฤติ สอดส่องดูแลชุมชน ชี้ไม่มีใครรู้จักพื้นที่ดีเท่าคนในถิ่น

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำเพื่อความปลอดภัยในชุมชน ครั้งที่ 4 จ.ราชบุรี” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเร้นซ์ ร่วมกับ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม อาสาสมัครภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 


"จากกรณีสะเทือนขวัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะที่ผ่านมาหลายกรณีได้สร้างความกังวลใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ที่กระทำผิดในลักษณะสะเทือนขวัญดังกล่าว มักจะเป็นผู้ที่เคยต้องโทษจนได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการเฝ้าระวังหรือติดตามพฤติกรรมภายหลังพ้นโทษจนกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีความห่วงใยประชาชนเรื่องความปลอดภัย โดยได้นำสภาพปัญหาและความต้องการไปกำหนดแผนและกลไกต่าง ๆ โดยมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพความรุนแรง แต่กระบวนการทางกฎหมายยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง" นายสมศักดิ์ กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาจากแนวคิดตัวอย่างของต่างประเทศที่ว่า หากชุมชนรู้ถึงอันตรายในชุมชุนจะไม่มีผู้ได้รับอันตราย กระทรวงยุติธรรม จึงหาวิธีการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่เคยก่อเหตุสะเทือนขวัญ ด้วยการพักการลงโทษให้ออกมาปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับประชาชนระยะหนึ่งแต่ต้องสวมใส่กำไล EM เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันสอดส่อง และผ่านการดูแลของ ศูนย์ JSOC จะทำให้สังคมสร้างการรับรู้ว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ในพื้นที่ ดีกว่าสังคมไม่รู้อะไรเลย

นายธนวัชร กล่าวว่า บริบทการทำงานของกรมคุมประพฤติจังหวัดราชบุรี ได้สนองนโยบายการทำงานจาก นายสมศักดิ์ ที่ต้องการดูแลผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในหนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้นำกำไล EM มาใช้กับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ 521 ราย ได้แก่ ผู้ถูกคุมประพฤติที่ศาลสั่งรอลงอาญาของจังหวัดราชบุรี 1 ราย ผู้ได้รับการพักโทษ 510 ราย และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์อีก 10 ราย ทั้งนี้ ในส่วนของอาสาสมัครจังหวัดราชบุรี เรามีด้วยกัน 10 อำเภอ แต่ยังขาดอีก 2 อำเภอ คือ อ.วัดเพลง และ อ.สวนผึ้ง ตนจึงอยากเชิญชวนคนในพื้นที่ที่มีใจรักในงานอาสาเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาสาสมัครคุมประพฤติราชบุรี เพื่อช่วยกันทำประโยชน์ร่วมกันสอดส่องดูแลชุมชุนของเราให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ตนมั่นใจว่าไม่มีใครรู้จักตรอก ซอก ซอย หรือแม้กระทั่งทางเข้าออกของหมู่บ้านดีไปกว่าคนในพื้นที่ตัวเองแน่นอน

 

 

"เรายังมีนโยบายที่สำคัญอีกเรื่องคือ กรณีของผู้ต้องขังที่ก่อคดีอุจฉกรรจ์แล้วกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมหลังพ้นโทษ ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้สังคมยังหวาดระแวงกับเรื่องดังกล่าว เพราะบางเคสยังกลับตัวกลับใจไม่ได้และไปก่อเหตุซ้ำ ทางกระทรวงยุติธรรมโดยท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ จึงได้เร่งผลักดันกฎหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมผู้ต้องขังคดีอุจฉกรรจ์ในกรณีกระทำผิดซ้ำ โดยจะต้องถูกนำตัวใส่กำไล EM อีกครั้ง และอาจมีโทษถึง 15 ปี "
 

logoline