svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา"ธรรมนัส"ดัดหลัง"บิ๊กตู่"เมินส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ

24 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมพลังประชารัฐวานนี้ ตอกย้ำว่าน่าจะมีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ช่วงต้นปีหน้าค่อนข้างแน่นอน จากท่าที ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการฯ ได้วิเคราะห์ถึงคะแนนนิยมพรรคตกต่ำ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อ และไม่ชัดจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย

สาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างที่ลักลั่นของพรรคพลังประชารัฐ กล่าวคือ บุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หัวหน้าพรรค แถมยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคด้วย ทำให้ไม่มีจุดยึดโยงกับพรรค และ ส.ส.ในพรรคอย่างแท้จริง

 

ผนวกกับท่าทีและพฤติกรรมของนายกฯ ที่ไม่มีความเป็นนักการเมือง แต่เป็นนักการทหาร ซ้ำยังมองนักการเมืองในแง่ลบมาตลอด จึงไม่สุงสิงหรือคลุกคลี เมื่อ ส.ส.ขออะไรก็ไม่เคยได้ แม้แต่ขอเข้าพบยังเป็นเรื่องยาก เวลามีประชุมพรรค นายกฯก็ไม่ได้เข้ารับฟังความเห็นของ ส.ส. เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เหล่านี้จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับ ส.ส. ยิ่งห่างเหิน

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม

 

เมื่อคะแนนนิยมนายกฯตกต่ำลงจากปัญหาโควิด ทำให้ ส.ส.ไม่อยากสนับสนุน เพราะต้องห่วงอนาคตตัวเอง และการไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นง่ายดาย เพราะนายกฯไม่ใช่หัวหน้าพรรค ไม่ใช่เจ้าของพรรค ไม่ใช่สมาชิกพรรค แถมยังไม่ได้ดูแลลูกพรรค มีแต่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่ตรงนี้มาตลอด

 

แต่คำถาม คือ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน "บิ๊กป้อม" ยังทำหน้าที่นี้อยู่หรือไม่ หลังจากเกิดปรากฏการณ์ "ปลดฟ้าผ่า" 2 รัฐมนตรีที่เป็น "กล่องดวงใจ" ของ "บิ๊กป้อม" ออกไป 

 

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป ผู้นำพรรค หรือหัวหน้าพรรค จะเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นๆ ชูเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศ และเป็นผู้นำในการเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้ ถ้าพ่ายแพ้ ต้องเป็นฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคก็ต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ ที่สำคัญ คือ มีกลไกของพรรคในการควบคุมหัวหน้าพรรคได้ หากหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ แล้วบริหารจนคะแนนนิยมตกต่ำ พรรคก็ต้องมีกลไกในการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เพื่อรักษาความนิยมของพรรคเอาไว้ และสู้ศึกการเมืองครั้งต่อไป ตัวอย่างแบบนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ

 

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เกิดคำถามว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ตกต่ำ พรรคมีกลไกอะไรไปบังคับได้ เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่หัวหน้าพรรค รวมถึงยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วย

 

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นหากคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังตกต่ำลงเรื่อยๆ จึงมีสิ่งเดียวที่พรรคพลังประชารัฐจะทำได้ คือ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ก็ไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯอีกต่อไป หรือหากจะเสนอชื่อ ก็ไม่เสนอเป็นชื่อแรก เนื่องจากเสนอได้ 3 ชื่อ

 

"หากสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผู้กองธรรมนัสยังกุมเสียง ส.ส.ในพรรคอยู่ ก็ต้องถามใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ และจะเลือกอนาคตทางการเมืองของตัวเองอย่างไร" ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว

logoline