svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สนค.เดินหน้าเผยแพร่ผลการศึกษาฯ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าระยะ 5 ปี

14 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565-2570

14 กันยายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. มีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การค้าของชาติ จึงมีความตั้งใจจะจัดทำยุทธศาสตร์ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน มีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการค้าของไทยให้มีความโดดเด่น นำพาให้ประเทศกลับมาเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุนที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม  สนค. จึงร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางการค้าและปัจจัยในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ พร้อมกับจัดการประชุมระดมความคิดเห็นภาคประชาสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 


    
นายภูสิต กล่าวในช่วงพิธีเปิดว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน เปลี่ยนแปลง และเกิดสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ขึ้นมากมาย อาทิ ความไม่แน่นอนจากนโยบาย Brexit หรือ ประเด็นการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ทวีความเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2562 จนมาถึงสถานการณ์การระบาดของ Covid-19  ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรงทั้งภาคการค้า การลงทุน และภาคบริการ และแม้ว่าจนถึงวันนี้สถานการณ์ทั่วโลกดูจะคลี่คลายลงมาก แต่โลกยังคงเผชิญกับ การเปลี่ยนแปลงในอีกหลายกระแส อาทิ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ การขยายตัวของสังคมดิจิทัล  

แต่ไทยก็ยังคงมีรากฐานที่มีความแข็งแกร่งสามารถเติบโตต่อไปได้ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค พบว่ายังมีตลาดใหม่ ๆ ที่ไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อเติมเต็มให้แก่ตลาดเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยมีศักยภาพ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับเศรษฐกิจระดับฐานราก สามารถสนับสนุนรายได้เข้าประเทศ และสร้างรายได้ให้คนไทยได้อย่างแท้จริง
    


ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้น จึงต้องสะท้อนความท้าทาย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และ สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าให้บรรลุผลและสามารถก้าวไปอีกระดับได้นั้น มีหลักการที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ 4 ประการด้วยกัน  กล่าวคือ

ประการที่ 1 การสร้างขีดความสามารถและความพร้อม ที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง หรือ จากสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการค้า  เช่น โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ หรือ รูปแบบการค้าขาย 
    


ประการที่ 2 การเพิ่มความสำคัญต่อการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่โดดเด่นและเป็นจุดแข็งของประเทศ รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรม และต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค


    
ประการที่ 3 การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ชุมชน และท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองและเชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ   
    


ประการที่ 4  การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ก้าวไปด้วยกัน ส่งเสริมการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง มีทิศทางการพัฒนาที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ต้องทำงานกันอย่างสอดคล้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มากที่สุด 
    


นายภูสิต กล่าวทิ้งท้ายว่า  การจัดงานในวันนี้ นอกจากเป็นการสร้างการรับรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง เพื่อให้ผลการศึกษาและสาระของยุทธศาสตร์การค้าของชาติมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และหวังให้ทุกหน่วยงานร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป
 

logoline