svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จับตา ปรับภาษีบุหรี่ เดือน ต.ค. ประโยชน์อยู่ที่ใคร

12 กันยายน 2564
373

หมอประกิต ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง กับการพิจารณา “ระบบภาษียาสูบใหม่” ที่จะเตรียมบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ประเทศไทยจะอยู่ในเส้นทาง “สังคมปลอดบุหรี่” หรือ “เม็ดเงินมหาศาล”

12 กันยายน 2564 จากที่กระทรวงการคลัง เสนอโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เตรียมบังคับใช้เดือนตุลาคม นี้ ซึ่งระบบภาษีที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นระบบ 2 อัตรา คือ บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกต่ำกว่าซองละ 60 บาท เก็บภาษีร้อยละ 20 และบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท เก็บภาษีร้อยละ 40

 

โดยระบบภาษีปัจจุบันมีจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่ลดราคาขายปลีกลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่าซองละ 60 บาท เพื่อเสียภาษีน้อยลง ทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยลดลง รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง ทำให้จากการประเมินผลของของศูนย์ภาษียาสูบ มหาวิทยาลัยชิคาโก ให้คะแนนมาตรการภาษีบุหรี่ของไทยอยู่ที่ 1.75 จาก 5 คะแนนเต็ม ถือว่าไทยสอบตก

 

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย.64) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เขียนบทความ “การปรับปรุงภาษีบุหรี่ กับวิธีช่วยเหลื่อชาวไร่ยาสูบ ที่ถูกต้อง”  มีข้อความดังนี้

 

อีกไม่กี่วัน เราก็จะรู้ระบบภาษียาสูบใหม่ ที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศใช้เดือนตุลาคมนี้

 

กระทรวงการคลังออกข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่า ในการพิจารณาระบบภาษีครั้งใหม่นี้ จะคำนึงถึงผลกระทบ 4 ด้าน คือ รายได้ภาษีที่จะได้รับ ผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อชาวไร่ยาสูบ และต่อปัญหาบุหรี่หนีภาษี

 

แน่นอน ภาษีที่ออกแบบใหม่ ตามหลักสากลที่ถูกต้องแล้ว จะต้องทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น และคนสูบบุหรี่ลดลง ถ้าผิดจากนี้ ถือว่าระบบภาษีใหม่ล้มเหลว

ข้อที่ว่าต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ ตรงนี้ยังคาดเดาไม่ได้ว่า กระทรวงการคลังเขาคิดจะจัดการอย่างไร

 

ซึ่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ จากการปรับ/ขึ้นภาษี มีความเป็นไปได้ 2 กรณีคือ

 

กรณีที่ 1 ภาษีที่ขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ หรือส่งผลกระทบน้อย ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ค่อนข้างแน่นอนที่ภาษีใหม่จะไม่ทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ไม่ทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้น ทั้งยังไม่แน่นอนว่า ภาษีที่เก็บได้จะไม่ลดลงจากที่เก็บได้ขณะนี้

 

กรณีที่ 2 ภาษีที่ปรับใหม่ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง สุขภาพประชาชนดีขึ้น กระทรวงการคลังเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น กรณีนี้ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ จากการขายใบยาสูบได้ลดลง

 

กรณีที่ 2 นี้ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาลดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ โดยรัฐบาลจัดสรรเงินจากภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นบางส่วน มาชดเชยเยียวยา ชาวไร่ยาสูบในระยะสั้น และสนับสนุนให้ชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทนเปลี่ยนอาชีพในระยะกลาง และระยาว

 

ดังที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ที่จัดการขึ้นภาษีบุหรี่ และแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบด้วยวิธีนี้ จนองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศอื่นทำตาม

 

หวัง และภาวนาว่า กระทรวงกรคลังจะเสนอ และครม.จะเลือกระบบภาษีที่เป็นกรณีที่ 2 ประเทศไทยจะได้อยู่ในเส้นทางที่ไปสู่สังคมปลอดบุหรี่

จับตา ปรับภาษีบุหรี่ เดือน ต.ค. ประโยชน์อยู่ที่ใคร

 

แต่หากเลือกกรณีที่ 1 ก็ต้องถือว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก ดั่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบนานาชาติ ตั้งข้อสังเกตกับผมในหลายโอกาสว่า

 

ทำไมรัฐบาลไทย จึงปล่อยให้การแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบ ที่มีจำนวนไม่มากเลย มาเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน 10 ล้านคนที่สูบบุหรี่ ทำให้การสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงช้ามาก แม้หน่วยงานที่รณรงค์ลดการสูบบุหรี่จะพยายามมากเพียงไรก็ตาม

 

ผมก็ได้แต่ฟังแล้วสะท้อน และเหนื่อยใจ เพราะได้เสนอให้แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ต่อกระทรวงการคลัง และรัฐบาลมาโดยตลอด

 

ส่วนเรื่องผลกระทบต่อบุหรี่หนีภาษี เป็นเรื่องที่ต้องจัดการโดยตรงที่ระบบควบคุมบุหรี่หนีภาษีให้ดี ไม่ใช่กลัวที่จะใช้ระบบภาษีที่ดี

 

เพราะหากระบบการควบคุมบุหรี่หนีภาษีไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องขึ้นภาษี บุหรี่หนีภาษีก็จะมีมากอยู่แล้ว

 

ขอภาวนาอย่าให้การดำเนินนโยบายภาษียาสูบ ออกมาในทำนองที่คำนึงถึงความอยู่ดีของโรงงานยาสูบ (การยาสูบไทย)

 

หรือแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบแบบเอาง่ายเข้าว่า โดยให้ความสำคัญมากกว่าการปกป้องสุขภาพของคนไทย

 

จับตา ปรับภาษีบุหรี่ เดือน ต.ค. ประโยชน์อยู่ที่ใคร