svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวกาฬสินธุ์พร้อมเสิร์ฟกุ้งก้ามกรามรับมารตรการปลดล็อค

29 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมส่งผลผลิตและออเดอร์ออกสู่ตลาดขานรับมาตรการปลดล็อก โดยเฉพาะร้านอาหาร1 กันยายน นี้ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บรรยากาศการซื้อขายกุ้งที่เลี้ยงไว้ซบเซามายาวนาน

 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจาก ศบค.เตรียมประกาศมาตรการปลดล็อก พื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งพื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายให้กับร้านอาหารในหลายจังหวัด โดยอนุญาตให้ร้านอาหารไม่มีแอร์นั่งทานได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนร้านที่มีแอร์นั่งทานได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งถือเป็นอาหารขึ้นชื่อและสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ต่างพากันตื่นตัวระดมญาติพี่น้องลงบ่อสำรวจผลผลิตของตนเอง และนำตาข่ายมาช้อนกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงไว้ในบ่อเพื่อเตรียมรับออเดอร์ส่งให้กับลูกค้า โดยเฉพาะตลาดสดและร้านอาหารต่างๆ ทั่วภาคอีสาน ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการตามมาตรการผ่อนคลายในวันที่ 1 กันยายนนี้

ชาวกาฬสินธุ์พร้อมเสิร์ฟกุ้งก้ามกรามรับมารตรการปลดล็อค

นายอาทิตย์ ภูบุญเติม อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และพ่อค้าคนกลางจำหน่ายกุ้งก้ามกราม กล่าวว่า หลังทราบข่าวว่าทางศบค.จะมีการปลดล็อกมาตรการต่างๆในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด โดยเฉพาะการผ่อนคลายให้กับร้านอาหาร รวมทั้งตลาดสด ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อกุ้งก้ามกราม ทำให้ทุกคนดีใจอย่างมาก หลังก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564กระทั่งปัจจุบัน ทำให้กุ้งก้ามกราม ซึ่งถือว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อ และสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ภาพรวมปีละกว่า 1 พันล้านบาท ส่งผลิตออกขายลำบาก และซบเซาเงียบเหงามานานทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า ทั้งสิ้นเปลืองค่าอาหารเพิ่ม เพราะต้องขยายระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น นอกจากนี้กุ้งก็เริ่มตายลงทุกวัน เนื่องจากเกิดความแออัดในบ่อ เพราะไม่ได้จับจำหน่ายตามห้วงอายุ

ชาวกาฬสินธุ์พร้อมเสิร์ฟกุ้งก้ามกรามรับมารตรการปลดล็อค

นายอาทิตย์กล่าวว่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ในภาวะปกตินั้นจะมีพ่อค้าเร่ รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารจากจังหวัดต่างๆ เข้ามารับซื้อกุ้งสดทุกที่ปากบ่อทุกวัน แต่ละคนจะมาซื้อเที่ยวละไม่น้อยกว่า 100-200กก.พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ร้านค้า ร้านอาหาร ตลาดสด และแหล่งรับซื้อกุ้งปิดตัวลง ส่งผลกระทบให้กุ้งในบ่อตกค้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีตลาดส่ง ตนและผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งจึงต้องนำกุ้งไปส่งขายเอง วันละ 40-50 ก.ก. บางคนก็เร่ขายตามหมู่บ้าน และลดราคาลงจาก ปกติที่ปากบ่อ ก.ก.ละ 250 บาท เหลือ ก.ก.ละ 200-230 บาทตามขนาดของกุ้งซึ่งถือว่าจำเป็นต้องลดราคาและยอมขาดทุน ดีกว่าที่จะปล่อยให้ค้างบ่อและน็อคตาย เหมือนที่เคยเกิดเหตุกรณีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่มีข่าวออกมาว่า ศบค.จะปลอดล็อกให้ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งที่เกษตรกรส่งกุ้งก้ามกรามไปขาย และจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2564 นั้น ต้องขอขอบคุณรัฐบาลและ ศบค.เป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จะได้มีตลาดจำหน่าย และผู้ประกอบการขนส่งกุ้ง ร้านค้า ร้านอาหาร ก็จะมีงานทำ มีรายได้ อย่างไรก็ตามในวันนี้ พอทราบข่าว ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีให้กับวงการค้าขายกุ้งก้ามกราม ตนและเกษตรกรหลายรายจึงได้สำรวจปริมาณกุ้งในบ่อของตนเอง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดเข้ามาติดต่อรับซื้อกุ้งบางแล้ว เพื่อนำไปเตรียมสำรองไว้ในร้านและเตรียมเปิดบริการก่อนที่ราคาจะขยับขึ้น จาก ก.ก.ละ 200-230 บาท เป็น ก.ก.ละ 250-300 บาท เหมือนภาวะปกติที่ผ่านมา

ชาวกาฬสินธุ์พร้อมเสิร์ฟกุ้งก้ามกรามรับมารตรการปลดล็อค

logoline