svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ย้อนวันวาน “กระท่อม” อดีตยาเสพติดที่เพิ่งถูกปลดแอก

25 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พืชกระท่อม หรือ กระท่อม ถือเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด แต่ล่าสุดได้ถูกปลดแอกให้ประชาชนสามารถปลูก กิน และครอบครองได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย

เรื่องราวของ "กระท่อม" ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างการเสวนาวิชาการเรื่อง "กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด” (เมื่อ 10 ก.พ.2560) โดยนักวิชาการแพทย์ ประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนามองว่า สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ แต่ต้องผลักดันการวิจัยอย่างจริงจัง รวมไปถึงการแก้กฎหมาย เพื่อปลดล็อกพืชทั้งสองชนิดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522


ที่ได้ให้ความเห็นว่า ยังกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ ทว่า ในอนาคตทั้งสองอาจเป็นพืชถูกกฎหมายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และล่าสุดได้มีการเสนอให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายแต่ต้องควบคุมการใช้ไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว ส่วนกัญชาต้องรอการวิจัยอย่างรอบคอบ ก่อนนำเสนอให้เป็นพืชถูกกฎหมายได้

 

หลังจากมี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564  ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูกและขายได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมาย 

 

ย้อนเวลาทำความรู้จัก “อดีตยาเสพติด” อย่างเจ้าพืชกระท่อม

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth ในวงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบกว้าง 5-10 ซม. ยาว 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

 

กระท่อม ซึ่งจะสามารถพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณทางภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และทางตอนบนของประเทศมาเลเซีย 
 

 

ย้อนวันวาน “กระท่อม” อดีตยาเสพติดที่เพิ่งถูกปลดแอก

จุดเด่นสรรพคุณทางยา 

สามารถบรรเทาหรือแก้อาการปวดท้อง , แก้บิด , แก้ท้องเสีย , แก้ปวดเมื่อย , แก้เบาหวาน และแก้ไข้ รวมทั้งในงานวิจัยของชาวอังกฤษและญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์รายงานวิชาการระบุว่า สารธรรมชาติในใบกระท่อม สามารถแก้ปวด ลดไข้ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาแก้ปวดตัวใหม่ได้ โดยไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนฝิ่น

 

ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ 

ใบกระท่อม คือเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งในการออกรบของทหาร เพราะทำให้ขยัน นอนหลับดี สามารถทำงานทนแดด-ทนลม รวมทั้งใช้กินเพื่อต้องการเลิกฝิ่นได้ นอกจากนี้ ยังใช้รับแขกเหมือนหมากพลู และใช้กินกับน้ำชา โดยผู้ที่เคยกินใบกระท่อมเป็นประจำ ต่างบอกว่า เลิกง่ายกว่า "หมาก"

 

การควบคุมตามกฎหมาย 

ปี พ.ศ.2486 ไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราช บัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม และตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

 

จากครั้งอดีตคนไทยในสมัยก่อนนิยมใช้ ใบของกระท่อม มาทำเป็นยาชูกำลัง บางคนก็เอามากินแก้อาการหนาวสั่น โดยการทาน ชาวบ้านจะนิยมนำมา เคี้ยวใบสด หรือบางคนก็จะใช้วิธีบดเป็นผง ละลายน้ำดื่ม แต่ด้วยสรรพคุณที่ใบกระท่อมมี คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า ประกอบกับราคาถูก จึงกลายเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่น โดยนิยมนำน้ำกระท่อมมาผสมกับเครื่องดื่ม เช่น โค้ก หรือยาแก้ไอ เมื่อดื่มเข้าไปก็จะเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม จนมีฉายาเท่ๆ ว่า 4X100 นั่นเอง 

ย้อนวันวาน “กระท่อม” อดีตยาเสพติดที่เพิ่งถูกปลดแอก

ฤทธิ์ของกระท่อมที่เกิดกับร่างกาย 
หากกินใบกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงกับร่างกาย  เช่น มีอาการ ปากแห้ง  ปัสสาวะบ่อย  เบื่ออาหาร ท้องผูก  อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ  นอนไม่หลับ  และถ้ารับประทานใบกระท่อมปริมาณมากๆ ก็จะทําให้ผู้เสพมีอาการมึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม) ตามข้อมูลทางการแพมย์ระบุ บางครั้งในบางรายกินเพียง 3 ใบ ก็ทำให้มีอาการเมาได้
  

สำหรับในบางรายที่กิน ใบกระท่อม ติดต่อกันนานๆ ก็มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีอาการ ผิวคล้ำและสีผิวดูเข้มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าหากเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อม ไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้

 

ขณะที่บางราย พบว่าจะมีอาการที่หนักกว่า ถึงขนาดเกิดการหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือมีอาการหลอน

ด้วยฤทธิ์ดังกล่าวนี่เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2486  ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ที่ได้ออกประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม  พร้อมกำหนดโทษลงกฎหมาย ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน คือ ปรับไม่เกิน 200 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

จึงได้กำหนดให้ กระท่อม เป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

ย้อนวันวาน “กระท่อม” อดีตยาเสพติดที่เพิ่งถูกปลดแอก


การควบคุมในต่างประเทศ สหประชาชาติ (UN) ยังไม่ได้ประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จาก World drug report 2013 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทิ์ตัวใหม่ๆ ซึ่งมี พืชกระท่อม รวมอยู่ด้วย 
          

จากข้อมูลพบว่า ประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม สาร mitragynine และ 7-hydroxymitragynine ส่วนออสเตรเลีย พม่า รวมถึงไทย มีการควบคุมพืชกระท่อมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด ด้านนิวซีแลนด์ ควบคุมพืชกระท่อม และสาร mitragynine ภายใต้กฎหมาย Medicines Amendment Regulations

 

ส่วน World drug report 2013 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ข้อมูลการแพร่ระบาดของพืชกระท่อมว่า พืชกระท่อม มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการรายงานการใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี ค.ศ.2011 ยุโรปเริ่มการมีขายพืชกระท่อมทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

 

หลังจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564  ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูก และขายได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมาย ปิดตำนาน  “อดีตยาเสพติด” กระท่อม ปลดแอกได้สำเร็จแล้วในวันนี้!!

ย้อนวันวาน “กระท่อม” อดีตยาเสพติดที่เพิ่งถูกปลดแอก
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522, 

กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติด เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มา ณ โอกาสนี้ด้วยเป็นอย่างสูง

logoline