svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภาวุ่น ถกแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 ส.ว.-ส.ส.ดาหน้าค้าน ส่อถูกยื่นตีความ

25 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐสภาวุ่นตั้งแต่เช้า ถกแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 ของ กมธ.แก้รธน. ที่ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน “ส.ว.-ส.ส.” ดาหน้าค้าน ส่อถูกยื่น ศาลรธน. ขณะที่ภูมิใจไทย รีบโดดออก ขอให้บันทึกว่า ไม่ได้เข้าร่วมถกด่วนเมื่อวาน สุดท้ายที่ประชุมมีมติรับเรื่องพิจารณา

วันนี้ (25 ส.ค.64) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 วาระที่สองต่อจากเมื่อวาน (24 ส.ค.) ที่ค้างการพิจารณาไว้ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเป็นวาระลงมติอนุญาตการแก้ไขเพิ่มเติมของกมธ.แก้รัฐธรรมนูญที่ได้ขอทบทวนเนื้อหาจากเดิมที่ยื่นไว้แล้ว

 

โดยก่อนลงมตินายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ....  แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา กล่าวชี้แจงรายงานของกมธ.ฯ ที่มีการแก้ไขใหม่ว่า รายงานที่กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ซึ่งมีการเพิ่มเติมเพียงเฉพาะมาตรา 86 เท่านั้น ที่เดิมเขียนจำนวน ส.ส.ไว้ 350 เขต และทางกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯขอแปรญัตติให้เปลี่ยนจาก 350 เขต เป็น 400 เขต และแก้ไขบทเฉพาะกาล 1 บทเท่านั้น  ส่วนมาตราอื่นที่ปรากฎตามเอกสารเดิมที่มีมาตราต่างๆ รวมถึงเรื่องบทเฉพาะกาลที่จากเดิมเสนอเพิ่มเติม 2 บท ทางกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯทบทวนแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และบางส่วนเกินความจำเป็น จึงตัดออก ไม่ได้เสนอในรายงานปรับปรุงครั้งนี้ จึงขอเสนอที่ประชุมพิจารณา และยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม

ต่อมา นายชวน สอบถามที่ประชุมว่าขัดข้องหรือไม่ หากจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับล่าสุดเข้าสู่การพิจารณา โดยก่อนเข้าวาระการพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา(สว.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นเสนอความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เพราะสิ่งที่แก้ไขมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เกรงว่าจะมีปัญหาระยะยาว และเกิดความขัดแย้งได้ในอนาคต อีกทั้งเชื่อว่ากระบวนการนี้ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

 

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาบันทึกว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุมกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯที่นัดประชุมด่วน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค. 64  ที่ดำเนินการไม่ชอบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ว่า กรณีการประชุมด่วนต้องแจ้งนัดประชุมอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 1 วัน ซึ่งการประชุมกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯเมื่อวานอาจทำผิดข้อบังคับได้

 

จากนั้นนายชวน ชี้แจงยืนยันว่า เมื่อกมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องขอมติที่ประชุมว่าเห็นด้วยและอนุญาตให้กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ นำร่างฉบับแก้ไขเข้ามาพิจารณาหรือไม่ โดยมีผู้ลงมติเห็นด้วย  357 คะแนน ไม่เห็นด้วย 42 คะแนน งดออกเสียง 86  คะแนน จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ.... ในวาระสองเรียงลำดับรายมาตราในเวลา 10.20 น.

logoline