svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

รฟม.ตั้งเป้า ต.ค.ขายซอง ประมูล สายสีส้ม

20 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รฟม. เตรียมนำข้อตกลงคุณธรรมใช้โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้รอกระทรวงคลังตอบรับส่งผู้ร่วมสังเกตุการณ์ ก่อนเรียกประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 รับการประมูลล่าช้าจากสถานการณ์โควิด ตั้งเป้าขายซองใหม่ต.ค. เชื่อได้เอกชนร่วมลงทุนเม.ย.ปี 65

ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ระบุ เมื่อเร็วๆนี้ รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอเข้าร่วมนำข้อตกลงคุณธรรมมาร่วมใช้ในคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม.จึงจะนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ดำเนินการ 

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ซึ่งก็มีเอกชนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการใช้คะแนนทางด้านเทคนิค 30% พิจารณาควบคู่กับคะแนนราคา 70% ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ต้องรอคณะกรรมการตามมาตรา 36 พิจารณา แต่ยังเรียกประชุมไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการประชุมคณะกรรมการตมามาตรา 36 ประชุมผ่านออนไลน์ไม่ได้ และล่าสุดต้องรอหนังสือจากกระทรวงการคลังตอบรับเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และส่งรายชื่อผู้ร่วมสังเกตุการณ์มาให้รฟม.ก่อน 

รฟม.ตั้งเป้า ต.ค.ขายซอง ประมูล สายสีส้ม
 

รฟม.ตั้งเป้า ต.ค.ขายซอง ประมูล สายสีส้ม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงการคลังส่งรายชื่อผู้ร่วมสังเกตุการณ์แล้ว หลังจากนั้นถึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 โดยตั้งใจว่าอยากให้มีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและขายซองครั้งใหม่ภายในเดือนต.ค. 2564 และจะใช้ระยะเวลา 60 วันก่อนเปิดซองประมูล คาดว่าภายในเดือนมี.ค.-เม.ย. 2565 จะได้เอกชนผู้ชนะประมูล ซึ่งในขั้นตอนตรงนี้อาจล่าช้ากว่าแผน เพราะต้องรอสถานการณ์โควิดว่าคลี่คลายหรือไม่ แต่ตามกำหนดของการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกยังกำหนดไว้ที่กลางปี 2568 และส่วนตะวันตกปี 2570 ซึ่งหากได้ผู้ชนะแล้วก็จะให้เริ่มติดตั้งระบบส่วนตะวันออก ที่งานโยธาเสร็จเกือบหมดแล้ว 

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินจำหน่ายคดีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังเหลือที่บีทีเอสฟ้องเพิ่มเติมศาลปกครองว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม. กระทำละเมิดกับบีทีเอส ว่าได้รับความเสียหาย 5 แสนบาท อยู่ในการพิจารณาของศาล 
 


ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หลังจาก รฟม.ได้เปิดขายซองเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ตั้งแต่ 5 ก.ค. - 7 ต.ค.2564 ปัจจุบันมีเอกชนสนใจซื้อเอกสาร 8 ราย แบ่งเป็นเอกชนไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย อย่างไรก็ดี รฟม.ได้กำหนดให้เอกชนสามารถยื่นข้อเสนอได้ในวันที่ 8 ต.ค.2564 โดย รฟม.จะใช้เวลาพิจารณาถึงปลายเดือน ธ.ค.2564 และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา ภายใน ม.ค.2565 

ทั้งนี้ รฟม.ยืนยันว่า การประกวดราคาครั้งนี้ดำเนินการตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ไม่ได้กีดกันบริษัทต่างชาติ เพราะจะเห็นได้จากปัจจุบันมีต่างชาติเข้ามาซื้อซองแล้ว 2 ราย และจากการตรวจสอบประวัติต่างชาติที่ทำงานระบบรถไฟฟ้าคล้ายคลึงกัน มีต่างชาติที่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาครั้งนี้ได้ 7-8 ราย และการใช้เกณฑ์คะแนนเทคนิค 30 และราคา 70 ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ทำได้ และไม่ทำให้เกิดการทิ้งงานในภายหลัง  โดยรฟม.ได้ชี้แจงไปยังผู้วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ เพราะรฟม.มองถึงความรอบคอบ และเป็นหนึ่งในโครงการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม สามารถตรวจสอบได้

logoline