svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พบ "ข้าวตอกภูแลนคา" พืชชนิดใหม่ของโลก

20 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ สบอ.7 ยืนยันยังพบ "ข้าวตอกภูแลนคา" พืชชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ อช.ภูแลนคา เร่งสำรวจการกระจายพันธุ์พร้อมหาแนวทางอนุรักษ์

20 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทีมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินออกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

พบ "ข้าวตอกภูแลนคา" พืชชนิดใหม่ของโลก

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทีมสำรวจได้สำรวจพบ ข้าวตอกภูแลนคา (Platostoma ovatum Suddee, A. J. Paton & J. Parn.) พืชชนิดใหม่ของโลก ที่นักพฤกษศาสตร์สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับนักพฤกษศาสตร์จากต่างประเทศ ค้นพบและตีพิมพ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

โดยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบ ข้าวตอกภูแลนคา ขึ้นเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ในบริเวณใกล้เคียงกับการค้นพบเมื่อครั้งแรก เป็นการยืนยันว่า ข้าวตอกภูแลนคา ยังปรากฏอยู่ในพื้นที่เช่นเดิม

 

สำหรับ "ข้าวตอกภูแลนคา" เป็นพืชในวงศ์กะเพรา (Lamiaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Platostoma ovatum Suddee, A. J. Paton & J. Parn. เป็นไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออกออกตามซอกใบ เรียงห่าง ๆ กัน ดอกในช่อจำนวนน้อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง ปลายแยกเป็นแฉกบน 3 แฉก แฉกกลางขนาดใหญ่สุด บิดโค้งขึ้น ปลายแหลมถึงมนกลม แฉกข้าง 2 แฉกมีขนาดเล็ก ปลายแหลม แฉกล่าง 1 แฉก ปลายมนกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาวอมม่วง โคนหลอดด้านบนมีติ่ง ผิวหลอดมีขน

พบ "ข้าวตอกภูแลนคา" พืชชนิดใหม่ของโลก

รายงานการกระจายพันธุ์เบื้องต้น ข้าวตอกภูแลนคา พบกระจายบริเวณป่าผสมผลัดใบ ริมหน้าผา ภูเขาหินทราย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ที่ความสูงประมาณ 850 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และพบการออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม

พบ "ข้าวตอกภูแลนคา" พืชชนิดใหม่ของโลก

ปัจจุบันยังพบเป็นพืชถิ่นเดียวของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา และมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่จำกัด จึงมีความจำเร่งด่วนในการวางแผนการสำรวจและทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูต่อไป

 

ที่มา : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)

logoline