svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รอยแผลตกค้างจากโควิด ผลกระทบต่อเด็กที่ต้องเร่งเยียวยา

18 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ทุกสองชีวิตที่เสียไปจากโควิด-19 จะต้องมีเด็กหนึ่งคนต้องรับมือกับการสูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครอง” เป็นคำกล่าวของดร.ซูซาน ฮิลล์ จากศูนย์ควบคุมโรคระบาดของสหรัฐฯ(CDC)

จากสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งไปกว่า 208 ล้านคน และผู้เสียชีวิตอีกร่วม 4.3 ล้านราย แม้สถานการณ์ในหลายประเทศเริ่มทุเลาจากการกระจายวัคซีนทั่วถึง แต่สำหรับประเทศไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อคงที่อยู่ราว 20,000 คนต่อวันคือสถานการณ์ยืดเยื้อมานับเดือน เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตทะยานขึ้นไปถึง 312 ราย เป็นข้อยืนยันว่าสถานการณ์ห่างไกลจากคำว่าคลี่คลาย


โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายมิติ ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ธุรกิจที่เคยคิดว่ามั่นคงล้มครืนตามกัน ทั้งจากปัญหาของโรคระบาดหรือมาตรการควบคุมโรค ไปจนสภาพสังคม รวมถึงความรู้สึกของผู้คนที่ได้รับผลกระทบในทุกระดับ


แน่นอนว่าผู้ได้รับผลกระทบที่น่าสงสารและไม่อาจส่งเสียงเรียกร้องออกมามากที่สุดย่อมไม่ใช่ใครนอกจากเด็กๆ

 

"การติดเชื้อโควิดในเด็ก" ซับซ้อนกว่าที่คิด
นับจากการระบาดระลอกใหม่เป็นต้นมา จำนวนเด็กติดเชื้อก็พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด จากอัตราการระบาดภายในครอบครัว ล่าสุดจำนวนเด็กติดเชื้อสะสมร่วม 96,393 คน กับอัตราการติดเชื้อรายวันราว 2,900 คน และจากสถานการณ์ระบาดเราคงคาดหวังให้จำนวนเด็กติดเชื้อหยุดลงได้ยาก


มากกว่าคือความเปราะบางของเด็กที่มีมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ผลกระทบเองก็มีปัจจัยต้องประเมินในหลายด้าน ตั้งแต่การติดเชื้อในเด็กเอง ไหนจะเด็กที่ไม่ได้ติดเชื้อแต่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องกักตัวหรือเข้ารับการรักษาจนไม่มีคนดูแล ปัญหาการสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองไปจากโรคระบาด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิต

 

คริส โปตระนันท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง "กลุ่มเส้นด้าย" เห็นว่า การจัดหาเตียงให้เด็กทำได้ยากมาก เพราะระบบรองรับผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามและโฮสพิเทลล้วนไม่รับผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากมีแต่แพทย์ทั่วไปที่คอยดูแลรักษา ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์เด็กคอยประจำ ทำให้การดูแลเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้เตียงโรงพยาบาลเป็นหลัก


ปัญหาซับซ้อนกว่านั้นจะเกิดขึ้นในกรณีผู้ติดเชื้อเป็นคู่แม่ลูก ถ้าเป็นแม่ลูกติดโควิด บางครั้งแม่ได้เตียงแล้วแต่กลับไม่ยอมเข้ารับการรักษาในระบบเพราะเป็นห่วงลูก อยากอยู่ดูแลรอให้ลูกได้รับที่รักษาก่อน จนเป็นเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น บางกรณีลูกติดแม่ไม่ติด แต่แม่ก็ยอมติดเชื้อเพื่อเข้าไปดูแล บางครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองติดเชื้อหมดแล้วแต่เด็กขาดการดูแลระหว่างพ่อแม่ต้องกักหรือพักรักษาตัว แย่สุดคือกรณีพ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดจนต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ก็กำลังเป็นปัญหาที่ทวีจำนวนขึ้นทุกวัน

รอยแผลตกค้างจากโควิด ผลกระทบต่อเด็กที่ต้องเร่งเยียวยา

สถานการณ์เด็กกำพร้าจากทั่วทุกมุมโลก
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย เมื่อการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกก็ล้วนเผชิญเรื่องแบบเดียวกัน จากรายงานใน Lancet Medical Journal คาดการณ์ตัวเลขตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 - 30 เมษายน 2564 เป็นเวลาราว 14 เดือน เด็กประมาณ 1.13 ล้านคนต้องสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กอีกมากกว่า 1.5 ล้านคนต้องประสบกับการเสียชีวิตของญาติพี่น้องภายในบ้าน จนธนาคารโลกรายงานว่า “ทุกๆ 12 วินาทีจะมีเด็กหนึ่งคนต้องกำพร้าจากการสูญเสียด้วยโควิด”

จากสถิติภายในประเทศที่เคยระบาดหนักอย่างอินเดียเอง ในวันที่ 5 มิถุนายนจำนวนของเด็กกำพร้าเฉียบพลันเกิดขึ้นกว่า 3,632 คน และคนที่ต้องสูญเสียพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไปกว่า 27,176 คน ในเปรูเองก็คาดว่ามีเด็กสูญเสียผู้ปกครองจากการระบาดไปราว 93,000 คน แน่นอนว่านี่คือตัวเลขจากการประเมินที่ไม่สามารถสรุปได้อย่างละเอียด เพราะสถานการณ์ระบาดยังไม่จบ

 

ในประเทศไทยจำนวนตัวเลขของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์รายงานมีอยู่ 35 คน แต่นี่เป็นการสำรวจโดยคร่าวไม่ได้กระทำกับทุกจังหวัด แท้จริงจำนวนตัวเลขย่อมมีเยอะกว่านี้มาก จากการคาดการณ์ของราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) ประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศวันที่ 4 สิงหาคม 2564 คาดว่าจำนวนเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองมีไม่ต่ำกว่า 330 คน แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังไม่หยุดจากจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน


ย่อมเกิดคำถามและข้อสงสัยตามมาว่าใครจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบชีวิตเด็กเท่านี้ต่อไป

 

เด็กกำพร้าและแนวทางเยียวยาดูแล
ผลกระทบต่อตัวเด็กย่อมเกิดขึ้นหลังการเสียคนรอบตัวหรือใกล้ชิด โดยเฉพาะกับเด็กกำพร้าต้องสูญเสียพ่อแม่ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อุปนิสัยใจคอ การเข้าสังคม พฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ มีลักษณะนิสัยก้าวร้าวมากขึ้น บางส่วนอาจหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เลวร้ายกว่าคือไปอยู่ในวงจรอาชญากรรม หรือตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์


เพื่อป้องกันเรื่องเหล่านั้นเบื้องต้นจึงได้มีเริ่มมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแห่งแรก และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานการเชื่อมต่อของภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม ไปจนอาสาสมัครให้ไร้รอยต่อ รับหน้าที่จัดหาทั้งสถานรักษาพยาบาล จัดให้เด็กมีผู้ดูแลระหว่างผู้ปกครองกำลังกักตัว โดยจะเน้นไปทางญาติหรือคนในชุมชนก่อนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับตัวเด็ก รับดูแลเด็กที่ต้องกำพร้า รวมถึงคอยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา


แน่นอนความช่วยเหลือไม่ได้มีแค่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์รับเด็กกำพร้าทั้ง 35 คน เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ หากไม่มีญาติรับเลี้ยงจะให้เข้าสู่กองทุนคุ้มครองเด็ก คอยประสานหาครอบครัวอุปถัมภ์ และมอบเงินดูแลจนจบการศึกษา อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าทั้งจำนวนความช่วยเหลือและเด็กที่ได้รับ ยังห่างไกลจากคำว่าเพียงพอ


นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นกับปัญหาเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 มีอีกหลายส่วนจำเป็นต้องพูดถึงทั้งการดูแลสภาพจิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ หรืออนาคตต่อจากนั้น ไม่แค่เด็กกำพร้า แต่รวมถึงเด็กทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ เป็นภัยเงียบไม่ปรากฏแต่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไขไปพร้อมการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤต


เพราะหากรอจนทุกอย่างจบลงแล้วค่อยมาแก้ไขเยียวยาปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง สำหรับเด็กมันอาจสายเกินไปก็เป็นได้

logoline