svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภูมิใจไทย"ชี้ร่างแก้ไขรธน.ขัดกฎหมายหลายข้ออาจต้องยื่นศาลวินิจฉัย

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศุภชัย ใจสมุทร" ลั่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะให้อำนาจกรรมการการเลือกตั้งมากเกินขึ้น ลั่นอาจต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

11 สิงหาคม 2564 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91) คนที่สาม แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาของ กมธ. ว่า ส่วนตัวมีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ จึงได้ขอสงวนความเห็น ดังนี้

 

1. การแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐสภามีมติในวาระ 1 เนื่องจากรัฐสภามีเจตนารมณ์ให้มีการแก้ไขเฉพาะ มาตรา 83 และมาตรา 91 เท่านั้น คณะ กมธ. ต้องทำหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 อย่างเคร่งครัด เพื่อตีความตามเจตนารมณ์ในชั้นรับหลักการของรัฐสภา 

 

"ภูมิใจไทย"ชี้ร่างแก้ไขรธน.ขัดกฎหมายหลายข้ออาจต้องยื่นศาลวินิจฉัย

 

2. การเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการเลือกตั้งได้โดยไม่มีหลักการใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำกับไว้ ถือเป็นการเพิ่มหน้าที่และภาระความรับผิดชอบให้กับ กกต. มากขึ้น ซึ่งตามมาตรา 256 (7) และ (8) กำหนดเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระต้องจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติก่อน

 

 

นอกจากนี้ การกำหนดให้ กกต. มีอำนาจดังกล่าวเป็นการกำหนดในลักษณะของบทเฉพาะกาล เพื่อรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วเสร็จ หากเกิดเหตุอันไม่คาดคิดระหว่างที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับใช้ ประกาศของ กกต. ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ แล้วจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้ง การกำหนดให้รัฐสภาพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า หน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นผู้เสนอ และต้องดำเนินการตามมาตรา 131 และมาตรา 132 หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
 

 

3. การที่ กมธ. ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขอแปรญัตติเพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมมาตราอื่น ๆ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการไปแล้วนั้น ไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันนิติบัญญัติ และไม่อาจกระทำได้เนื่องจากเป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 124 และการที่ กมธ. ยินยอมให้กระทำเช่นนั้นอาจผิดต่อหลักกฎหมายและประมวลจริยธรรมของ ส.ส. และ ส.ว. ได้
 

"พรรคภูมิใจไทย ได้แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอดว่าไม่เหมาะสมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะมาตรา 83 และมาตรา 91 ซึ่งเป็นการยึดผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง จึงไม่อาจปล่อยให้ประเด็นนี้ผ่านเลยไป โดยที่สังคมและประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริง" นายศุภชัย กล่าว 

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวจะขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระ 2 และหากถึงที่สุดแล้ว อาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยอีกทางหนึ่งด้วย

logoline