svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"องอาจ"แนะถามบุคลากรการแพทย์ก่อนออกกฎหมายนิรโทษหมอ

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” แนะฟังเสียงบุคลากรสาธารณสุขก่อนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะข้อ 7 สมควรได้รับการคุ้มครองด้วยหรือไม่ ย้ำทุกฝ่ายต้องคำนึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าเอื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

11 สิงหาคม 2564 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้า และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างดังกล่าว ทำให้พอเข้าใจถึงหลักการในการออก พ.ร.ก. เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข อันประกอบด้วย 

 

1. ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข

 

2. ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ 

 

3. ผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน

 

4. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

 

5. อาสาสมัครต่างๆ ที่มาช่วยทำงาน 

 

6. บุคคลที่ได้รับการร้องขอจากผู้ประอบวิชาชีพเพื่อให้ปฏิบัติงาน

 

7. บุคคล คณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ได้รับการคุ้มครอง มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันการถูกฟ้องร้อง ทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน

ทั้งนี้ บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ 6 กลุ่มแรก ไม่มีเสียงท้วงติงว่าไม่ควรได้รับการคุ้มครอง ตาม พ.ร.ก. สังคมมีความเห็นใจ และเข้าใจการทำงานของบุคลากรด่านหน้าเป็นอย่างดี ว่ามีความเสี่ยงอย่างมากในการทำงาน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การเอาผิดตามกฎหมายได้ 

 

อย่างไรก็ตาม แต่ที่มีเสียงท้วงติงคลางแคลงใจ คือ กลุ่มบุคคลในข้อ 7 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ที่ถูกมองว่าเป็นการออก พ.ร.ก. เพื่อนิรโทษกรรมให้ฝ่ายนโยบายพ่วงเข้ามากับการคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าไม่มีการคุ้มครองบุคคล และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ก็ไม่น่ามีผลที่ทำให้ขาดขวัญกำลังใจในการทำงานแต่อย่างใด 

 

"เพราะเท่าที่ผ่านมา คนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า ทำงานโดยสุจริต ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และไม่ได้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.นี้ ก็ไม่น่ามีผลกระทบอะไร" นายองอาจ กล่าว

อย่างไรก็ดี พ.ร.ก.นี้ ยังต้องผ่านการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนเสนอ ครม. ดังนั้น จึงควรดำเนินการรับฟังความเห็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

1. ใครควรได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดฯ 

 

2. ควรให้บุคลากรสาธารณสุข มีมติว่า ควรให้บุคคล คณะบุคคลตามข้อ 7 ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.นี้หรือไม่

 

3. พ.ร.ก.นี้ควรได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในการใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างขวัญกำลังใจของแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าอย่างแท้จริง

 

นายองอาจ กล่าวย้ำว่า ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม คำนึงถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม มากกว่าเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อันจะช่วยทำให้การทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น 
 

logoline